“…ขนาดจีนแข็งแกร่งถึงเพียงนี้ ประเทศตะวันตกก็ยังคงดึงดันที่จะยื่นมือเข้าก้าวก่ายทุกรูปแบบทั้งเรื่องไต้หวัน ฮ่องกง ซินเจียง ธิเบต หากจีนอ่อนแอ คงถูกทลายกลายเป็นเสี่ยงๆไปนานแล้ว จีนได้จัดประชุมใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 เป็นครั้งที่สาม ทุกครั้งของการประชุมศูนย์รวมของผู้มีอุดมการณ์ยอมเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวมที่เรียกกันว่า “อู๋หว่อ” หรือ “ไม่มีฉัน” เราจะพบว่าจีนนั้นได้แก้ปัญหาสำคัญๆ บางอย่างได้แล้วและกำลังมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายใหม่ต่อไปตามแนวคิดยุทธศาสตร์ และการออกแบบสูงสุดของคณะผู้นำพรรคฯ ที่เรียกกันติดปากว่า “ศูนย์กลางพรรค” หรือ “ตั่งจงเอียง” ทั้งนี้ “ตั่งจงเอียง” ในยุคปฏิวัติมี “เหมา เจ๋อตง” เป็นแกนนำ ในยุคพัฒนามี “เติ้ง เสี่ยวผิง” “เจียง เจ๋อหมิน” “หู จิ่นเทา” และปัจจุบันก็คือ “สี จิ้นผิง” เป็นแกนนำ ประเทศจีนยุคใหม่ก้าวหน้ามาได้ด้วยการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยการนำของคณะผู้นำสูงสุดที่เกิดจากมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคโดยกฎกติกาของพรรค ดังนั้นการประชุมใหญ่แต่ละครั้งของพวกเขา จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของชาติและประชาชนโดยรวมและย่อมส่งผลกระทบยาวไกลต่อโลกโดยรวมเช่นเดียวกัน…”
การประชุมชาว “อู๋หว่อ”ไม่มีฉัน “无我”大会
วันที่ 15-18 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้ประเทศจีนได้จัดประชุมใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 เป็นครั้งที่สาม ตามการออกข่าวนับว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญของพรรคฯ จีนซึ่งจะมีประเด็นใดบ้าง ผู้เขียนจะติดตามลำดับมาเสนอในบทต่อไป
จนถึงวันนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอายุ 103 ปีแล้ว จากพรรคการเมืองเล็กจิ๋ว มีสมาชิกเริ่มต้นไม่ถึงร้อยเปิดประชุมสมัชชาพรรคครั้งแรกด้วยจำนวนตัวแทนทั่วทั้งพรรคไม่ถึง 20 คนซึ่งในจำนวนนั้นมีตัวแทนหนุ่ม “เหมา เจ๋อตง” ด้วย
ระยะแรกของการเคลื่อนไหวคณะผู้นำพรรค มุ่งประสานการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โดยรวมของจีนที่กำลังอยู่ในห้วงขุนศึกแยกกันครองอำนาจ ประเทศจีนไร้ความเป็นเอกภาพ ขณะที่มหาอำนาจตะวันตก และญี่ปุ่นก็ตรึงกำลังควบคุมอีกชั้นหนึ่ง ภารกิจรวมชาติกลายเป็นสิ่งเร่งด่วนที่สุด
แนวทางการเคลื่อนไหวจึงมุ่งสามัคคี พรรคกั๋วหมินตั่ง ของ ดร.ซุนยัดเซน ขยายขบวนการรวมชาติทำศึกกับกลุ่มขุนศึกภาคเหนือ
แต่ ดร.ซุนยัดเซน ได้สิ้นชีวิตลงเสียก่อน พรรคกั๋วหมินตั่งภายใต้การนำของ เจียงไคเช็ก ได้ปรับแนวทางครั้งใหญ่หันมาปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนออกไปตั้งฐานที่มั่นในชนบท จัดตั้งกองทัพ ดำเนินสงครามประชาชน จนกลายเป็นความหวังของประชาชน
ระหว่างนั้น เพื่อต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น พวกเขาได้ดำเนินนโยบายแนวร่วมกู้ชาติจับมือกับพรรคกั๋วหมินตั่งต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน จนประสบชัยชนะ
แต่ภายหลังจากตกลงกันไม่ได้พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เปิดฉากทำสงครามปลดปล่อยประเทศจีนสามารถขับไล่ เจียงไคเช็ก ไปยังเกาะไต้หวัน
ประเทศจีนก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี คศ.1949 ขณะที่พรรคกั๋วหมินตั่งก็ได้ตั้งหลักพัฒนาเกาะไต้หวันสร้างความเจริญมาจนถึงปัจจุบันนี้
โดยทั้งสองฝ่ายยึดมั่นในหลักการจีนเดียว จนกระทั่งเมื่อกลุ่มพรรคการเมืองท้องถิ่นเช่น พรรคหมินจิ้นตั่ง ได้ขึ้นเป็นคณะผู้บริหาร ก็ได้ดำเนินนโยบายแยกไต้หวันออกจากความเป็นจีน ไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน เป็นเหตุให้จีนต้องดำเนินนโยบายรวมไต้หวันทุกรูปแบบ
การประกาศไม่ขึ้นต่อจีนของคณะผู้บริหารจากพรรคหมินจิ้นตั่ง ทำให้มหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ ในการแทรกแซงกิจการภายในของจีน โดยล่าสุดได้ประกาศจุดยืน ห้ามจีนรวมไต้หวันด้วยกำลัง พร้อมกันนั้นก็จัดส่งอาวุธขายให้ไต้หวันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งจีนทนไม่ไหว ต้องเสริมแสนยานุภาพรอบเกาะไต้หวันหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตัดเส้นทางการลำเลียงอาวุธเข้าไต้หวัน
หากจีนอ่อนแอ คงถูกทลายกลายเป็นเสี่ยงๆ ไปนานแล้ว
นึกดูเถอะ ขนาดจีนแข็งแกร่งถึงเพียงนี้ ประเทศตะวันตกก็ยังคงดึงดันที่จะยื่นมือเข้าก้าวก่ายทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องไต้หวัน ฮ่องกง ซินเจียง ธิเบต
ด้วยเหตุนี้ จีนยุคใหม่เกิดขึ้นได้เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพัฒนามาได้ก็ด้วยพรรคคอมมิวนิสต์จีน และจะก้าวไปสู่อนาคตยาวไกลได้ก็ด้วยพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติที่เป็นศูนย์รวมของผู้มีอุดมการณ์ ยอมเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวมที่เรียกกันว่า “อู๋หว่อ” หรือ “ไม่มีฉัน”
ในยุคสงครามปฏิวัติปลดปล่อยประเทศชาติและประชาชนชาวจีน พวกเขายอมสละเลือดเนื้อและชีวิต ในยามที่ต้องทุ่มเทกำลังทั้งทางกายและสมองก็ทำกันเต็มที่ ทุกระยะของการพัฒนาจึงปรากฏบทบาทนำของชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างชัดเจน
ดังนั้นการประชุมพรรคฯ แต่ละครั้งจึงมีความหมายและส่งผลยาวไกลต่อจีน ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องสู่ชาวโลกโดยรวมอีกด้วย
ทุกครั้งของการประชุม เราจะพบว่าจีนนั้นได้แก้ปัญหาสำคัญๆ บางอย่างได้แล้ว และกำลังมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายใหม่ต่อไปตามแนวคิดยุทธศาสตร์และการออกแบบสูงสุดของคณะผู้นำพรรคฯ ที่เรียกกันติดปากว่า “ศูนย์กลางพรรค” หรือ “ตั่งจงเอียง”(党中央)
ทั้งนี้ “ตั่งจงเอียง” ในยุคปฏิวัติมี “เหมา เจ๋อตง” เป็นแกนนำ ในยุคพัฒนามี “เติ้งเสี่ยวผิง , เจียงเจ๋อหมิน , หูจิ่นเทา” และปัจจุบันก็คือ “สี จิ้นผิง” เป็นแกนนำ
โดยภาพรวมก็คือ ประเทศจีนยุคใหม่ก้าวหน้ามาได้ด้วยการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยการนำของคณะผู้นำสูงสุดที่เกิดจากมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคโดยกฎกติกาของพรรค
ดังนั้นการประชุมใหญ่แต่ละครั้งของพวกเขา จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของชาติและประชาชนโดยรวม และย่อมส่งผลกระทบยาวไกลต่อโลกโดยรวมเช่นเดียวกัน
จำเป็นที่เราจะต้องติดตามทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อจะได้ปรับตัวเองให้พร้อมและทันกาล
ไขคำจีน