วันจันทร์, กันยายน 9, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมตำรวจไซเบอร์ขยายผลแก๊ง สคบ. ปลอม วิดีโอคอลหลอกโอนเงิน รวบสาวเอเยนต์บัญชีม้า สั่งลูกเลี้ยงพร้อมเพื่อนจัดหา แม่รอฟันส่วนต่าง 10 เท่า

Related Posts

ตำรวจไซเบอร์ขยายผลแก๊ง สคบ. ปลอม วิดีโอคอลหลอกโอนเงิน รวบสาวเอเยนต์บัญชีม้า สั่งลูกเลี้ยงพร้อมเพื่อนจัดหา แม่รอฟันส่วนต่าง 10 เท่า

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลาประมาณ 15.30 น. ได้มีมิจฉาชีพโทรหาข้าราชการหญิงรายหนึ่ง แล้วแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. อ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกขายผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักผ่านเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าผู้เสียหายต้องไปยืนยันตนและปฏิเสธข้อกล่าวหากับทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและเกิดความกลัว แต่ขณะนั้นผู้เสียหายพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ทำให้ไม่สะดวกเดินทาง มิจฉาชีพจึงแนะนำให้ผู้เสียหายทำการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางไลน์แทน

ต่อมาคนร้ายได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนกับบัญชีไลน์ชื่อ “กองกำกับการปราบปรามการกระทำความผิดผู้บริโภค” แล้วได้แชทสนทนากับคนร้ายที่แอบอ้างเป็นตำรวจยศ พ.ต.ท. แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนพัวพันกับคดีฟอกเงิน จึงต้องโอนเงินให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ตรวจสอบ จากนั้นได้ให้ให้ผู้เสียหายวิดีโอคอลคุยกับมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จาก ปปง. ผ่านทางวิดีโอคอล

จากนั้น มิจฉาชีพสั่งให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันชื่อ “AMLO” ที่ดาวน์โหลดผ่านทาง Google Chrome เมื่อติดตั้งสำเร็จ ได้ให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลและทำตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่แจ้ง สุดท้ายมิจฉาชีพได้ส่งหมายเลขบัญชีธนาคารให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อตรวจสอบ ผู้เสียหายจึงโอนเงินไปจำนวน 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น จำนวน 631,273.83 บาท

ต่อมา มิจฉาชีพยังสั่งให้ผู้เสียหายกู้เงินจากแอปพลิเคชันบัตรสินเชื่อของธนาคารหนึ่ง ที่ติดตั้งอยู่ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย แล้วโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารผู้เสียหายเอง จำนวน 3 ครั้ง รวม 70,000 บาท จากนั้นมิจฉาชีพจึงหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินทั้งหมดในบัญชีที่เพิ่งได้มาให้ ปปง. ตรวจสอบทั้งหมดอีกครั้ง ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อทำตาม สุดท้ายรวมยอดเงินที่ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนไปทั้งสิ้น จำนวน 701,273.83 บาท เมื่อรู้ตัวจึงได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในเวลาต่อมา

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา บช.สอท. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการได้จำนวน 10 ราย โดยสามารถจับกุมตัวได้แล้วจำนวน 3 ราย

ต่อมา พ.ต.อ.อรุณณพันธ์ วานิช์ชานันท์ ผกก.4 บก.สอท.3 พร้อมทีมสืบสวนตำรวจไซเบอร์ ได้สืบทราบว่ามีผู้ต้องหาสำคัญของขบวนการซึ่งทำหน้าที่จัดหาบัญชีม้าให้ขบวนการดังกล่าวนำไปใช้งาน ได้เดินทางไปมา
เพื่อกบดานอยู่ตามพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ลำพูน และ จ.เชียงใหม่ จึงได้ลงพื้นที่เฝ้าติดตามสะกดรอย จนพบว่าผู้ต้องหาได้เข้าพักในห้องเช่าแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่

พ.ต.อ.อรุณณพันธ์ฯ พร้อมชุดสืบสวน จึงสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สส.ภ.5 นำหมายจับศาลจังหวัดมหาสารคาม ที่ จ.167/2567 ลงวันที่ 28 มิ.ย.67 เข้าจับกุม น.ส.ทาริกา หรือ โม อายุ 32 ปีได้ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ม.2 ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนว่าเป็นคนอื่น, ร่วมกันนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและร่วมกันเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึง โดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน,สมคบคบกันโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน และเป็นธุระจัดหาโฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาอื่นใด”

เบื้องต้น น.ส.ทาริกา ยอมรับสารภาพว่าตนได้กระทำผิดจริง เนื่องจากก่อนหน้านี้ตนเองไม่มีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง ทำให้มีรายได้น้อย ต่อมาได้มีผู้ชักชวนตนให้ทำหน้าที่จัดหาบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า)
และโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมการ์ด อ้างว่านำไปใช้ขายหวยออนไลน์ โดยมีค่าตอบแทนจำนวน 5,000 บาทต่อบัญชี เมื่อเห็นว่ามีรายได้ดีตนจึงตกลงทำ

โดยตนจะสั่งให้ลูกเลี้ยงและเพื่อนๆ ของลูกเลี้ยง ไปตระเวนรับซื้อสมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตร ATM มาจากที่ต่างๆ ในราคา 500 บาทต่อบัญชี เมื่อได้มาแล้วตนจะรวบรวมส่งให้แก่คนร้ายทางพัสดุ จากนั้นคนร้ายก็จะส่งเงินสดค่าตอบแทนมาให้ตนทางพัสดุเช่นกัน แล้วจึงนำไปจ่ายส่วนแบ่งให้ลูกเลี้ยงและเพื่อนๆ ประมาณ 1,000–3,000 บาทต่อบัญชี ซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่าตนเพิ่งทำเพียงไม่ถึง 10 ครั้ง จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากพบหลักฐานว่าผู้ต้องหาเคยทำมาแล้วกว่า 30 ครั้ง จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.3 ดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเร่งขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมขบวนการรายอื่นๆ มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts