จีนถือเป็นนักลงทุนและคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โครงการขนาดใหญ่ที่จีนลงทุน ภายใต้แผนริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทางด่วนสายพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ ถนน และสะพาน มีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจกัมพูชาอย่างมาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการที่ใช้เงินทุนของจีน มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจกัมพูชา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนท้องถิ่น ผลักดันให้กัมพูชา เป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวดเร็วประเทศหนึ่ง โดยระหว่างปี 2012-2022 มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ สูงถึง 7.7% และมีการเติบโตของ GDP ต่อหัวถึง 85.12% จาก 950.5 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1,759.6 ดอลลาร์สหรัฐ เลื่อนสถานะจากประเทศรายได้ต่ำ ขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ค่อนไปทางต่ำ ในปี 2015
การลงทุนของจีน กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในการช่วยให้กัมพูชาบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ระดับบน ภายในปี 2030 และประเทศรายได้สูง ภายในปี 2050
การลงทุนของจีนในกัมพูชา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2015-2019 หลังจากทั้งสองประเทศ เริ่มมีการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 2006 โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชา ภายใต้โครงการ BRI ของจีน ซึ่งมีความสำคัญมาก ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ในอนาคต
ข้อมูลของ CEIC ระบุว่า มูลค่าการลงทุนของจีนในกัมพูชา เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 419.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 เป็น 956.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 และจีนยังเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้าสูงถึง 8.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019
อัตราการเติบทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของกัมพูชา ครองอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 3 ในบรรดา 20 ประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดของเอเชีย รองจากมาเก๊า และอินเดีย (ตามรายงานที่เผยแพร่โดยสถิติ ของสถาบันสถิติอินโดนีเซีย Seasia Stats) ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง 6.1% แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลกัมพูชา ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต โดย ฮุน มาเนต กล่าวว่า กัมพูชายังต้องการการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานสะอาด การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเกษตร อุตสาหกรรม และการเงิน
ประเทศกัมพูชา มีความสัมพันธ์กับจีนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยที่กัมพูชามีปัญหาภายในประเทศ จีนก็ได้ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด โครงการใหญ่ๆ ที่ได้รับการอนุมัติ หรือการสัมปทานต่างๆ ส่วนใหญ่ล้วนมาจากทุนจีนเป็นสำคัญ กัมพูชามีความพยายามในการพัฒนา และยกระดับเศรษฐกิจประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่กัมพูชาขาด และต้องการเป็นอย่างยิ่งก็คือทุน ในแง่ของภูมิศาสตร์ กัมพูชาถือได้ว่ามีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือสีหนุวิลล์ เป็นประเทศที่มีทุนด้านทรัพยากรและวัฒนธรรมที่ดี หากถูกดึงศักยภาพมาใช้ได้อย่างเหมาะสม จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก
ดังนั้น การที่กัมพูชา จับมือเป็นพันธมิตรกับจีน เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสนับสนุน เป็นการผนึกกำลัง เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน