ทีมวิจัยของจีน ค้นพบปริศนาหินบะซอลต์บนโลก มีองค์ประกอบทางเคมี แร่ธาตุ คล้ายคลึงกับดินบนดาวอังคาร นำเส้นใยมาจำลองสร้างดินดาวอังคาร หวังก้าวสู่กระบวนการก่อสร้างฐานบนดาวเคราะห์สีแดงในอนาคต
การศึกษาจากคณะนักวิจัยของจีน ได้ยืนยันถึงความเป็นไปได้ ในการผลิตวัสดุเส้นใยจากดินของดาวอังคาร ซึ่งบ่งชี้ว่า การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร บนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ เป็นเรื่องที่สามารถเป็นไปได้ ในกระบวนการก่อสร้างฐาน บนดาวอังคารในอนาคต
ไซแอนซ์เน็ต.ซีเอ็น (ScienceNet.cn) รายงานเมื่อวันจันทร์ (2 ก.ย.) ว่า ทีมวิจัยจากสถาบันฟิสิกส์และเคมีเทคนิคซินเจียง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้ร่วมมือกับหลายสถาบัน อาทิ สถาบันธรณีเคมี และมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกงในนครเซินเจิ้น จำลองสร้างดินดาวอังคาร ด้วยการใช้หินบะซอลต์จากพื้นโลก ผลิตเส้นใยดินดาวอังคารแบบต่อเนื่อง ผ่านการทดลองยืด-หลอม (melt-drawing) วิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ อาทิ แรงโน้มถ่วงต่ำของดาวอังคาร และบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวอังคาร เช่นความกดอากาศต่ำ และบรรยากาศเฉื่อย ซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนการผลิตและประสิทธิภาพของเส้นใยดังกล่าว
หม่าเผิง หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ผลการวิจัยยืนยันความเป็นไปได้ ในการผลิตวัสดุเส้นใยดินดาวอังคารแบบต่อเนื่อง และควบคุมได้ โดยเส้นใยเหล่านี้ สามารถนำไปใช้ในการเตรียมวัสดุเส้นใยเสริมแรง ซึ่งมีความสำคัญ สำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการใช้ดินดาวอังคาร ก่อสร้างฐานบนดาวอังคารในอนาคต
ทีมวิจัยของหม่า ได้มุ่งศึกษาและใช้งานเส้นใยบะซอลต์ประสิทธิภาพสูง มาเป็นเวลายาวนาน โดยหม่ากล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีตัวอย่างทางกายภาพของดินดาวอังคาร แต่หินบะซอลต์ซึ่งพบได้ทั่วไปบนโลก มีองค์ประกอบทางเคมี องค์ประกอบแร่ธาตุ และพฤติกรรมการหลอมเหลวคล้ายคลึงกับดินดาวอังคารมาก
สำนักข่าวซินหัว ระบุว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ทำการทดลองจำนวนมาก ด้วยการใช้หินบะซอลต์มาจำลองสร้างดินดาวอังคาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ดินดาวอังคารแบบจำลองนี้ สามารถละลายได้อย่างสมบูรณ์ ณ อุณหภูมิ 1,360 องศาเซลเซียส และไม่เกิดผลึกตกตะกอนที่มองเห็นได้ชัดเจน ระหว่างกระบวนการละลาย และ การทำความเย็น พิสูจน์ให้เห็นถึงคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม