จีนไม่ยอมอ่อนข้อหลังโดน 10 ชาติสมาชิกอียู ลงมติขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้านำเข้า ยื่นอุทธรณ์เรื่องต่อองค์การการค้าโลก พร้อมงัดมาตรการสวนกลับ เรียกเก็บเงินค้ำประกันการนำเข้า ‘บรั่นดี’ ทำฝรั่งเศสกระอัก
ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EC ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปหรือ อียู มีมติสนับสนุนการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เพิ่มเติมในอัตราสูงสุด 35.3% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพ.ย.2024 ต่อเนื่องไปเป็นเวลา 5 ปี
มติดังกล่าวได้รับการลงคะแนนเสียงสนับสนุนจาก 10 ชาติสมาชิก นำโดย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ขณะที่ 5 ชาติคัดค้าน และอีก 12 ชาติงดออกเสียง โดยค่ายรถยนต์อีวีจีน เอสเอไอซี โดนเก็บภาษี 35.3% จีลี 18.8% บีวายดี 17.0% บริษัทอื่นๆ ที่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน อัตรา 20.7% ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่ “ไม่ให้” ความร่วมมือในการสอบสวนอัตรา 35.3%
ประเด็นที่ EC หยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างสำหรับการขึ้นภาษีครั้งนี้คือ รถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีราคาถูกเพราะการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ทำให้หอการค้าจีนใน EU ต้องออกมาตอบโต้ประเด็นดังกล่าวว่า การที่รถ EV ของจีนมีราคาถูก เป็นเพราะการพัฒนาเทคโนโลยี ที่มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง ไม่เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนการผลิตแต่อย่างใด
ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2024 เพื่อปกป้องสิทธิในการพัฒนา และผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงสีเขียวทั่วโลก โดยเรียกร้องให้อียู แก้ไขแนวทางการปฏิบัติที่ผิดพลาดในทันที เพื่อร่วมกันรักษาเสถียรภาพ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างจีนกับอียู ตลอดจนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
พร้อมกันนี้ มีรายงานข่าวว่า จีนใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measure) ชั่วคราวกับสินค้าบรั่นดี นำเข้าจากสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบกับหลายแบรนด์ อาทิ เฮนเนสซี, เรมี่ มาร์ติน และ มาร์แตลล์ โดยฝรั่งเศสถูกมองว่า เป็นเป้าหมายของมาตรการนี้ เนื่องจากจีนนำเข้าบรั่นดีจากฝรั่งเศส คิดเป็น 99% ของการนำเข้าบรั่นดีจากอียูในปี 2023 คิดเป็นมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 56,000 ล้านบาท
มาตรการดังกล่าว ระบุว่า การทุ่มตลาดบรั่นดีจากสหภาพยุโรป เป็นภัยคุกคามต่อภาคอุตสาหกรรมบรั่นดีของจีน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2024 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าบรั่นดีจากอียูจะต้องวางเงินค้ำประกัน (Security Deposits) ในอัตราประมาณ 34.8% ถึง 39.0% ของมูลค่านำเข้า
เจอมาตรการตอบโต้ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” แบบนี้ กลุ่มประเทศอียูจะเดินหน้าต่อหรือเปล่า