(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 19/2568)
กสม. ตรวจสอบกรณีโรงงานหลอมยางรถยนต์ จ.ขอนแก่น ก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อม แนะแก้ระเบียบการพิจารณาออกใบอนุญาต ให้จัดประชุมรับฟังความเห็นโดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม – มีหนังสือถึงนายกฯ กรณีปัญหามลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจากการทำเหมืองแร่ในเมียนมา เสนอเร่งเยียวยาประชาชนและสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคแก้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน
วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 19/2568 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
1.กสม. ตรวจสอบกรณีโรงงานหลอมยางรถยนต์ จ.ขอนแก่น ก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อม แนะแก้ระเบียบการพิจารณาออกใบอนุญาต จากการปิดประกาศเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นโดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นตัวแทนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการโรงงานหลอมยางรถยนต์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) ในพื้นที่ ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงงานดังกล่าวประกอบกิจการทำน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนจากยางรถยนต์และพลาสติกใช้แล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของประชาชนใกล้เคียงหลายหมู่บ้าน ทั้งปัญหาฝุ่นละออง กลิ่นเหม็นจากการหลอมยางรถยนต์ และน้ำเสีย รวมถึงประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมหรือเคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารก่อนการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และการพิจารณาออกใบอนุญาตโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 2) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ผู้ถูกร้องที่ 3) ยังมีความเร่งรีบเกินสมควร จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรกการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนในการพิจารณาขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว เห็นว่า พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มิได้กำหนดให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ในฐานะผู้ยื่นคำขอประกอบกิจการโรงงานต้องจัดประชุมประชาพิจารณ์เพื่อนำไปประกอบการพิจารณายื่นคำขอรับใบอนุญาต อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงสิทธิในข้อมูลข่าวสารและสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจการดำเนินการใด ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของชุมชน ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้จัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นในการขอตั้งโรงงานหลอมยางรถยนต์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมประชุม 79 ราย จากบ้านโคกสูง หมู่ที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงาน แต่ไม่ครอบคลุมถึงประชาชนในหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน กสม. เห็นว่า การจัดประชุมครั้งดังกล่าว ของผู้ถูกร้องที่ 1 อาจสร้างความสับสนให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการพิจารณาขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่ในขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 1 ยังมิได้ยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการ การประชุมดังกล่าวจึงไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่กำหนดวิธีการรับฟังความคิดเห็นไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง กระบวนการพิจารณาคำขออนุญาตของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 2) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ผู้ถูกร้องที่ 3) ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและมีความเร่งรีบเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตขยายโรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน พ.ศ. 2555 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 กำหนดให้ผู้ถูกร้องที่ 2 จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ด้วยวิธีการจัดทำประกาศการรับฟังความคิดเห็น โดยให้ปิดประกาศไว้ในสำนักงานของผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ว่าการอำเภอท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ และบริเวณที่ตั้งโรงงาน ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 ได้จัดทำประกาศการรับฟังความคิดเห็น และจัดทำประกาศสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นโดยมีระยะห่างจากวันที่ครบกำหนดตามที่ระเบียบทั้งสองฉบับกำหนดไว้ และผู้ถูกร้องที่ 3 พิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นระยะเวลา 2 เดือนนับจากที่ผู้ถูกร้องที่ 2 สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ ในชั้นนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 และผู้ถูกร้องที่ 3 มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สาม ผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงจากการประกอบกิจการโรงงานของผู้ถูกร้องที่ 1 เห็นว่า การประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว ก่อให้เกิดฝุ่นจากผงเขม่าดำฟุ้งกระจายทั้งในโรงงานและฟุ้งกระจายออกนอกโรงงาน เกิดมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนรอบโรงงาน ซึ่งถือเป็นเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องควบคุมการปล่อยน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และมีลักษณะที่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
กสม. เห็นว่า ปัญหาผลกระทบดังกล่าว เกิดจากความหละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เข้าตรวจสอบโรงงานของผู้ถูกร้องที่ 1 ก่อนเริ่มประกอบกิจการ โดยรายงานผลการตรวจสอบว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตครบทุกข้อและผลการตรวจสอบด้านอื่น ๆ เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ซึ่งไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (ผู้ถูกร้องที่ 3) ในภายหลัง ซึ่งพบว่าการประกอบกิจการก่อให้เกิดมลพิษจากฝุ่นและเขม่าดำฟุ้งกระจายออกนอกโรงงาน ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ไม่ตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตก่อนการเริ่มประกอบกิจการหรือไม่ และการที่ผู้ถูกร้องที่ 1 เริ่มประกอบกิจการจนส่งผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดปัญหาและผลกระทบแล้ว เทศบาลตำบลโคกสูง ผู้ถูกร้องที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบและมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ปรับปรุงแก้ไขโรงงานแล้ว ประกอบกับผู้ถูกร้องที่ 3 มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตและไม่ให้มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกันส่งเสริมให้โรงงานหลอมยางรถยนต์ (ผู้ถูกร้องที่ 1) นำแนวทางการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) มาเป็นแนวทางปฏิบัติในการประกอบธุรกิจ และให้จัดประชุมในพื้นที่บ้านโคกสูง หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 รวมถึงหมู่บ้านอื่นที่อาจได้รับประโยชน์หรือผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงาน ปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และมาตรการแก้ไขปัญหา รวมถึงกลไกการแจ้งปัญหาผลกระทบระหว่างผู้ถูกร้องที่ 1 และประชาชน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลในพื้นที่ รวมทั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (ขอนแก่น) เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองความปลอดภัยของบุคลากรภายในโรงงาน
นอกจากนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตขยายโรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน พ.ศ. 2555 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ซึ่งควรปรับเปลี่ยนวิธีการรับฟังความคิดเห็นจากการปิดประกาศเพียงวิธีเดียว เป็นการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีอื่น ๆ และควรกำหนดผู้มีส่วนได้เสียให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
ทั้งนี้ ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม แจ้งไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในสังกัด เพื่อให้กำกับดูแลพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เข้าตรวจสอบการเริ่มประกอบกิจการโรงงานของผู้ได้รับใบอนุญาต (ร.ง. 4) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานและการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามแบบรายงานผลการตรวจโรงงาน (แบบตรวจ 02) อย่างเคร่งครัด หากพบว่าผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตหรือการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีคำสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปรับปรุงแก้ไขก่อนเริ่มประกอบกิจการ





