วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตรคดีขาดอายุความ คนรวยรอดคุก! ใครรับผิดชอบ?

Related Posts

คดีขาดอายุความ คนรวยรอดคุก! ใครรับผิดชอบ?

จากกรณีที่เป็นข่าวครึกโครม คดี “โกทร” หรือ นายสุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ.ปราจีนบุรี บิดานางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ที่ จ.33/2565 ลงวันที่ 9 มิ.ย. 65 ข้อหา “สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ รักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล” หลังจากตกเป็นผู้ต้องหาในคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใน จ.ปราจีนบุรี พื้นที่กว่า 150 ไร่ ที่ยังอยู่ระหว่างการหลบหนีและคดีจะขาดอายุความในวันที่ 12 มิ.ย. 2565 คือวันนี้ ซึ่งตำรวจก็ได้กระจายกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักถึง 5 จุดเพื่อค้นหา แต่..ก็คว้าน้ำเหลว!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวถึงปัญหา “คดีขาดอายุความ” ว่า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการทุจริตประพฤติมิชอบของตำรวจผู้ใหญ่แทบทั้งสิ้น เนื่องจากตามข้อเท็จจริง ตำรวจผู้น้อยคือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ไม่ว่าคนแรกที่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษหรือคนที่รับสำนวนต่อมาหลังจากที่คนแรกย้ายไป จะ “ไม่กล้า” ปล่อยให้ “คดีขาดอายุความ” เป็นอันขาด ไม่ว่าคดีนั้นจะมีโทษสูงหรือน้อยเพียงใด เกิดมานานแค่ไหน เนื่องจากแม้ไม่มีพฤติกรรมทุจริตที่จะถือเป็นความผิดอาญาชัดเจน แต่ก็ถือว่าเป็น “ความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง” มีโทษถึงไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการอย่างร้ายแรง รัฐไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดอาญามาลงโทษตามกฎหมายได้

โดยการนับอายุความ จะเริ่มนับตั้งแต่วันวันที่กระทำความผิด เช่น บางคดียังอาจจะยังไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด แต่ก็ต้องสอบสวนและหาตัวคนร้ายนำมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาล ซึ่งอายุความต่างๆ กัน 5 ปี 10 ปี 15 ปี และสูงสุด 20 ปี

“พนักงานสอบสวนในชั้นต้น” บางคน อาจจะไม่ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอะไรส่งให้อัยการสั่งฟ้องคดี ไม่ว่าจะเป็นกรณีไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด หรือรู้แล้วแต่ไม่ไปเสนอศาลออกหมายจับ หรือศาลออกหมายจับแล้ว ก็ไม่ได้ทำหนังสือส่งหมายจับนั้นให้ตำรวจฝ่ายสืบสวนตามจับตัวมา เพราะคิดว่าอีกไม่นานก็จะย้ายแล้ว คดีถูกส่งให้คนอื่นรับผิดชอบไป

ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ นอกจากเกิดจากปัญหาความเกียจคร้านของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ รวมทั้งไม่มีระบบการตรวจสอบจากผู้บังคับบัญชาที่กระทำด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพแล้ว เบื้องหลังแท้จริงก็คือคำสั่งของตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่มีการบันทึกอะไรเป็นหลักฐาน ทั้งระดับสถานี กองบังคับการ หรือกองบัญชาการ ที่ “ส่งสัญญาณ” ให้ “ดองคดี” ไว้ หรือแม้แต่ศาลออกหมายจับแล้ว ก็ส่งสัญญาณให้ตำรวจฝ่ายสืบสวนผู้รับผิดชอบไม่ต้องไปสืบจับตัว และ ตร.ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบงานสืบสวน ก็ไม่ได้สนใจในการตรวจสอบการติดตามจับหมายศาลในคดีต่างๆ แต่อย่างใด

โดยปกติ คดีไกล้ขาดอายุความ ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพนักงานสอบสวนและอัยการ ทันทีที่รับคดีมาอยู่ในมือ จะรีบดำเนินการก่อนคดีอื่น ถึงแม้จะมีความร้ายแรงกว่า เพราะคดีที่หมดอายุความ จะไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้อีกต่อไป ถือเป็นเรื่องที่สำคัญของเจ้าพนักงานพนักงานยุติธรรมชั้นตำรวจและอัยการ ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก…เป็นที่ทราบกันดี

“พ.ต.อ.วิรุตม์” ผู้คร่ำหวอดในวงการตำรวจและระบบยุติธรรมไทยตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า “คดีขาดอายุความ” มักมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ข้อ คือ

1. ส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่คนรวยหรือคนมีอำนาจเป็นผู้ต้องหา

2. คดีที่มีหลักฐานเป็นเอกสารหลักฐานทางราชการ ซึ่งผู้ต้องหาแม้จะมีเงินก็ไม่สามารถต่อสู้เพื่อให้ชนะคดี หรือติดสินบนให้ตำรวจ “สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน” หรือ “ล้มคดี” ด้วยวิธีอื่นได้

3. ส่วนมากจะเป็นคดีประเภท “กระทำความผิดต่อรัฐ” และหน่วยที่งานที่รับผิดชอบกฎหมายนั้นเป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวโทษ ไม่มีประชาชนเป็นผู้เสียหายในคดีด้วย

เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขยายความ 3 ประเด็นนี้ต่อไปว่า

1. คดีที่หมดอายุความเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องเป็นคนรวย เพราะต้องใช้เงินมาก และมีความสัมพันธ์อันดีกับตำรวจผู้ใหญ่ในการสั่งให้พนักงานสอบสวน “ดองคดี” หรือสอบสวนเป็นคดีไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด หรือสั่งให้หัวหน้าสถานีไม่ต้องสืบจับตามหมายจับของศาล

2. ส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีหลักฐานเป็นเอกสารราชการ หรือรายงานผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจเขตที่ดิน ป่าไม้ ทะเล เพราะหลักฐานเหล่านี้ไม่มีทางโต้แย้ง หรือวิ่งเต้นให้หน่วยงานรับผิดชอบเปลี่ยนแปลงรายงานได้

3. เป็นคดีที่กระทำความผิดต่อรัฐ หากเป็นคดีที่ประชาชนเป็นผู้เสียหาย เช่น คดีฆาตกรรม ก็จะมีการติดตามคดี แต่หากเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐ เช่น คดีเหมืองแร่ ป่าไม้ หรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ บางครั้งหน่วยงานภาครัฐก็ไม่ได้ติดตาม มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานไปแจ้งความกล่าวโทษกับตำรวจแล้ว ตำรวจจะสอบสวนหรือไม่เมื่อใด หรือดองไว้ อ้างว่างานเยอะ หน่วยงานเหล่านี้ก็ไม่สามารถกระทำอะไรได้

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า “การปล่อยให้คดีขาดอายุความ” ถือเป็นเทคนิคหนึ่ง ในการช่วยผู้กระทำผิดไม่ให้รับโทษอาญา โดยที่ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะไม่มีหลักฐานการสั่งดังกล่าว แต่คนที่ต้องรับผิดชอบคือพนักงานสอบสวน หรือตำรวจฝ่ายสืบสวนที่ไม่ติดตามจับตัว แต่หากมีเรื่องราวขึ้นมา ก็หาหลักฐานเรื่องการทุจริตนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาไม่ได้ และการสอบสวนทางวินัยก็อาจยื้อไปเรื่อยๆ และในที่สุด ก็อาจลงโทษใครไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะมีการทำหลักฐานการสืบจับไว้แทบทุกเดือน แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ผู้ต้องหาก็อยู่หรือไปๆ มาๆ ที่บ้านเดิมหลังนั่นแหละ!

พ.ต.อ.วิรุตม์ นิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนพูดว่า นอกจากนั้น ก็ยังมีวิธีไม่ให้พนักงานสอบสวนถูกดำเนินคดีสำหรับการสอบสวนที่ไม่ได้ออกหมายจับ คือ การปล่อยให้คดีไปหมดอายุความในมือหน่วยงานอื่น เช่น อัยการ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งหากเป็นแบบนี้ พนักงานสอบสวนจะไม่มีความผิด เช่น คดีอยู่ใมมือพนักงานสอบสวน ส่งต่อกันไปมารวม 8 ปี แต่คนสุดท้ายสรุปส่งให้อัยการเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี หน่วยงานที่ อายุความขาดขามือ ก็บอกว่า ได้ทำงานเต็มที่เพราะคดีมีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งระบบการสอบสวนประเทศไทยก็เป็นแบบนี้มาตลอด!

ปฏิรูปตำรวจ ต้อง “กระจายอำนาจสอบสวน” ไม่ปล่อยให้ตำรวจผูกขาดแต่เพียงหน่วยเดียว

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา พ.ต.อ.วิรุตม์ ให้ความเห็นว่า ต้องปฏิรูประบบตำรวจและงานสอบสวนครั้งใหญ่ โดยในคดีที่มีปัญหาหรือคดีสำคัญตามที่กำหนดไว้ พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้พนักงานอัยการทราบเพื่อเข้าตรวจสอบการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และสั่งการสอบสวนได้เช่นเดียวกับระบบการสอบสวนในประเทศที่เจริญทั่วโลก

ต่อปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับคดีที่เกิดขึ้น ก็ต้องถาม ผบ.ตร. ให้ตอบหรืออธิบาย ส่วนการแก้ปัญหาในเชิงระบบอย่างจริงจัง ก็ต้องปฏิรูปงานสอบสวนไม่ให้ตำรวจ “ผูกขาด” ดังที่กล่าวไว้ โดยให้ทุกหน่วยงานเริ่มสอบสวนคดีที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กรมขนส่ง กรมป่าไม้ กรมประมง กรมเจ้าท่า ประมง สาธารณสุข เทศกิจ กทม. และหน่วยงานอีกมากมาย ต้องมีอำนาจสอบสวนความผิดที่รับผิดชอบได้อีกทางหนึ่ง หากคดีเห็นว่าไม่จำเป็นหรือไม่พร้อม ก็สามารถกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนเช่นเดิม

ต้องเข้าใจว่า “ตำรวจ” แท้จริงไม่ได้หมายถึงตำรวจแห่งชาติเท่านั้น แต่ถือเป็น “บทบาท” ในการตรวจตรารักษากฎหมายตาม ป.วิ อาญา หลายหน่วยก็มีบทบาทเป็นตำรวจ แต่ประเทศไทยไม่เรียกผู้หน่วยงานอื่นว่าตำรวจทั้งที่ทำหน้าที่ตำรวจ และเป็นตำรวจที่ไม่มียศซึ่งมีมานานแล้วด้วย ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดกันมาตลอด “ทั่วโลก งานสอบสวนไม่ได้อยู่ในมือตำรวจฝ่ายเดียว ทุกหน่วยมีอำนาจเริ่มคดีของตัวเองได้ และในความเป็นจริง หน่วยงานเหล่านี้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายในความรับผิดชอบของเขามากกว่า พงส.ตำรวจแห่งชาติด้วยซ้ำ”

เลขาธิการ สป.ยธ. ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า ที่พึ่งของประชาชนแท้จริงก็คือ อำเภอและจังหวัด ซึ่งเป็น “หน่วยการปกครองพื้นฐานของประเทศ” ประชาชนไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ทุกคนต้องพึ่งนายอำเภอและผู้ว่าฯ ได้ในทุกปัญหา โดยเฉพาะเรื่องอาชญากรรมและความสงบเรียบร้อย รวมทั้งการสอบสวนต้นทางกระบวนการยุติธรรม ตำรวจต้องทำงานตามนโยบายเป็นมือไม้ให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ประชาชนไม่ควรต้องเสียเงินและเสียเวลาเดินทางมากรุงเทพฯ มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อหน่วยตำรวจหน่วยนั้นหน่วยนี้ แม้แต่ตำรวจกองปราบ ตำรวจเทคโนโลยี หรือแม้แต่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะไปทำอะไรได้ เพราะอยู่ห่างไกลจากพยานหลักฐานและสถานที่เกิดเหตุทั้งสิ้น!

ถ้าประชาชนโดยเฉพาะผู้เสียหายต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ นั่นต้องหมายความว่า เขาพึ่งหน่วยงานในพื้นที่ไม่ได้ หรือไม่ยอมทำหน้าที่ หัวหน้าหน่วยผู้รับผิดชอบต้องถูกดำเนินคดีหรือมีความผิดอย่างน้อยทางวินัยอย่างใดอย่างหนึ่ง มีแต่ต้องคิดแบบนี้ จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณที่มา : ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts