มีผู้คนที่สนใจปัญหางานรักษากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาถามกันมากกว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสองสภาขณะนี้ จะส่งผลทำให้มีการปฏิรูป ระบบตำรวจและการสอบสวนคดีอาญา ของชาติบ้างหรือไม่ มากน้อยเพียงใด?
ขอเรียนว่า ประชาชนทุกคนไม่ควรเสียเวลาให้ความสนใจต่อร่างกฎหมายฉบับนี้แต่อย่างใด!
เนื่องจาก ไม่ได้เป็นการปฏิรูประบบตำรวจและการสอบสวนอย่างแท้จริง ตามเสียงเรียกร้องของประชาชนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอะไร!
เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ ตำรวจผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่ง สุมหัวกันร่างขึ้น!
แทนการใช้หรือแม้กระทั่งปรับแก้ไขร่างฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการดำเนินการอยู่นานนับปี
โดยถือว่ามีเนื้อหาเป็นการปฏิรูประบบตำรวจอย่างมีนัยสำคัญระดับหนึ่ง
ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อมีการเปิดโอกาสให้กลุ่มตำรวจผู้ใหญ่ร่างขึ้นใหม่
ก็ย่อมไม่มีประเด็นสำคัญที่เป็นการปฏิรูปหรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะทำให้ตัวเองและพวกพ้องต้องมีอำนาจน้อยลง หรือสูญเสียอำนาจเป็นอันขาด!
เช่น เรื่อง การกระจายอำนาจตำรวจสู่จังหวัดตามเสียงเรียกร้องของประชาชน ผู้ว่าฯ ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ต้องสามารถสั่งงานและตรวจสอบควบคุมตำรวจทุกระดับได้ ก็ไม่ปรากฏ
หรือ การกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานสายการแพทย์ พยาบาล พิสูจน์หลักฐาน การศึกษา เป็นตำรวจประเภทที่ไม่มียศเพื่อการรบแบบทหาร
รวมทั้ง การโอนหน่วยตำรวจเฉพาะทางตามกฎหมาย ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ก็ไม่มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน
ส่วนใหญ่แค่เขียนไว้ให้เป็นความเห็นชอบของ ก.ตร. ซึ่งประกอบด้วย ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร. เป็นเสียงส่วนใหญ่ หมกเม็ด “ซื้อเวลา” เอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้!
จึงทำให้ไม่รู้ว่าอีกกี่สิบปี หน่วยตำรวจมากมายที่ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องมียศและวินัยแบบทหารเหล่านี้จะได้โอนไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย เช่นระบบตำรวจในประเทศที่เจริญทั่วโลกเสียที!
ระหว่างนี้ก็ได้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกิดขึ้นในวงการ อัยการรุ่นใหม่!
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอัยการที่เบื่อหน่ายต่อการ นั่งอ่านสำนวนสอบสวน ที่ตำรวจทำส่งไปให้ “สั่งฟ้อง” “สั่งไม่ฟ้อง” หรือ “งดสอบสวน”
ซึ่งหลายคดีมีลักษณะเป็น “นิยายสอบสวน”!
แต่ “อัยการไทย” ตกอยู่ในสภาพ “ถูกปิดตา”
โดยแทบทุกคนไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ต้องหามีข้อต่อสู้และพยานหลักฐานอะไรได้กระทำความผิดจริงตามหลักฐานและคำพยานที่ตำรวจสอบไว้ทำให้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนนั้นจริงหรือไม่?
ส่งผลทำให้แทบทุกคน ต้องสั่งฟ้องไปทั้งที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถพิสูจน์ความผิดให้ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้ในหลายคดี!
ผลการสำรวจวิจัยในเรื่องนี้ของสำนักงานอัยการสูงสุดที่สอบถามอัยการทั่วประเทศจำนวนเกือบ 2,000 คน
กว่าร้อยละ 90 ตอบว่า การปฏิบัติหน้าที่มีปัญหา ต้องสั่งคดีไปทั้งที่ไม่ได้ความจริงครบถ้วนจากสำนวนการสอบสวน”!
และการใช้อำนาจสั่งไปให้ตำรวจสอบเพิ่มเติม ก็มีข้อจำกัดมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเด็นที่จะสั่งให้สอบเพิ่มนั้นต้องปรากฏในสำนวน ปัญหาระยะเวลาใกล้ครบฝากขัง
รวมทั้งไม่ว่าจะสั่งให้สอบเพิ่มไปกี่ครั้ง ก็ยังไม่ทำให้ได้ความจริงเช่นเดิมแต่ก็จำใจต้องสั่งคดีไป!
ผู้บริหารรุ่นใหม่ของสำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้มีความคิดเห็นตรงกันว่า จะต้องแก้ปัญหาที่คาราคาซังอยู่นี้ด้วยการมีคำสั่งตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการสอบสวนคดีสำคัญ ขึ้นตรงต่อ อสส.
มีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญาสำคัญหรือที่ประชาชนให้ความสนใจทั่วประเทศ
โดยอาศัย อำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ในการ ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อค้นหาพยานหลักฐาน นำไปสู่การให้ความยุติธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง
มี เจ้าพนักงานคดี ผู้มีคุณวุฒิทางกฎหมาย ช่วยทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานในคดีสำคัญตามที่กำหนดไว้หรือคดีที่ประชาชนสนใจ ตั้งแต่เกิดเหตุ
เช่นเดียวกับบทบาทของอัยการในทุกประเทศที่เจริญทั่วโลก แม้กระทั่งเวียตนาม และ สปป.ลาว!
นอกจากนั้น ต่อคดีที่มีปัญหาพยานหลักฐานในสำนวนไม่ครบถ้วน หรือไม่เพียงพอที่จะทำให้อัยการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีด้วยความมั่นใจและพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้
สำนักงานอัยการสูงสุดจะไม่ใช้วิธีส่งกลับไปให้ตำรวจสวนสอบเพิ่มเติมให้เสียเวลาอีกต่อไป
แต่จะ สั่งให้พนักงานสอบสวนนำผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาที่สำนักงานอัยการจังหวัดหรือเขตเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมต่อหน้า
ถ้าทำได้ จะถือเป็น “มิติใหม่” ของอัยการไทย
ในการทำให้ได้มีโอกาส “เห็น” และ “รับรู้” พยานหลักฐาน รวมทั้งสถานที่เกิดเหตุตั้งแต่เกิดการกระทำผิด
ไม่ตกอยู่ใน “วังวน” “กระบวนการทางอาญาที่วิปริต” เช่นปัจจุบันอีกต่อไป