คอบอลหัวก็จะปวดมึน กสทช.“ตัวตึง”!
- สั่งทุกแพลตฟอร์มถ่ายทอดสดบอลโลกไม่ทันข้ามวัน
- เจอทรูวิชั่นส์ฮึ่มฟ้องรีบโบ้ยส่งไม่เกี่ยวกับ กสทช.
คอบอลมึนแปดตลบ! ปัญหาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก2022 ยังวุ่นไม่จบ หลัง กสทช.ร่อนมติบอร์ดส่งให้ผู้ประกอบกิจการให้บริการทีวีบนแพลตฟรอ์มอื่น IPTV ต้องถ่ายทอดสดการแข่งขันตามกฎเหล็ก”มัสต์แคร์รี่”ไปไม่ทันข้ามวัน กลุ่มทรู-ทรูวิชั่นส์ร่อนหมายศาลมาถึงผู้ประกอบการขู่ดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซ้ำ ขณะกสทช.อ้างเป็นเรื่องเอกชนรับความเสี่ยงเอง กสทช.ไม่เกี่ยว จนอดสงสัยกันไม่ได้ว่า “ตัวตึงตัวจริง”สงสัยไม่ได้อยู่ระยอง อาจหลบมาแฝงตัวอยู่ กสทช.นี่เอง
ปัญหาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จาก FIFA ยังวุ่นไม่จบ แม้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีหนังสือลงวันที่ 24 พ.ย.ไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์แบบไม่ใช่คลื่น (กล่องรับสัญญาฯ IPTV) ทุกค่ายแจ้งถึงมติบอร์ด กสทช.ที่เห็นชอบให้ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการถ่ายทอดการแข่งขันตามประกาศ กสทช.เรื่องการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป หรือ “กฎเหล็ก Must Carry” โดยเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้เกิด “จอดำ”ได้อีก
* กลุ่มทรูร่อนหมายศาลถึง IPTV ทุกค่ายอีก
แต่คล้อยหลังคำสั่ง กสทช.ไม่ทันข้ามวัน เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มทรู โดยนายธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กลับร่อนแถลงการณ์ซ้ำไปยังผู้ให้บริการ IPTV รายอื่น ๆ ว่า ทางทรูยังคงยืนยันว่าได้รับสิทธ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก2022 จากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)เพียงรายเดียว
โดยระบุว่า ในช่วงที่ทุกฝ่ายพยายามร่วมกันหาทางออกให้คนไทยได้รับชมฟุตบอลโลก 2022 ได้ทันเวลา กลุ่มทรูเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ด้วยงบประมาณ 300 ล้าน เพื่อให้ได้สิทธิที่จะได้ถ่ายทอดสดบนดิจิทัลทีวี ร่วมกับดิจิทัลทีวีรายอื่น และสิทธิพิเศษในการออกอากาศบนเคเบิล ดาวเทียม ไอพีทีวี บนมือถือ โอทีที และอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อเสนอที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)ได้เสนอให้กับ ผู้ประกอบการเอกชนรายอื่นๆ ภายใต้ข้อเสนอเดียวกัน
แต่กลุ่มทรู เป็นรายเดียวที่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว เพื่อให้คนไทยได้รับชมทันช่วงเวลาการเปิดสนามแข่งขัน และเป็นสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับลูกค้ากลุ่มทรู ที่เป็นแฟนบอล ให้สามารถรับชมผ่านช่องทางบริการต่างๆ ทั้งทรูวิชั่นส์ และทรูไอดี รวมทั้งผ่านมือถือที่ใช้ซิมทรูมูฟ เอช และที่ผ่านมา กลุ่มทรู ยังพร้อมมอบสิทธิเปิดให้ช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ ได้ออกอากาศการแข่งขัน 16 แมตช์ของฟุตบอลโลก 2022 คู่ขนานกับช่องทรูโฟร์ยูในระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เพื่อให้คนไทยได้มีความสุขกับมหกรรมกีฬาครั้งนี้
ดังนั้น กลุ่มทรู ในฐานะผู้ได้รับสิทธิ์จากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จึงยืนยันถึงสิทธิตามที่ กกท.และกลุ่มทรูได้ทำข้อตกลงกันไว้ อันเป็นไปตามมาตรฐานของทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ การคำนึงถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ ยังได้ถูกระบุอยู่ในประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (กฎ Must Carry) ของ กสทช. รวมทั้งแนวปฏิบัติตามกฎ Must Carry ที่ระบุว่า การให้บริการโทรทัศน์ตามกฎ Must Carry จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาด้วย
ขณะเดียวกันมีรายงานว่าทางทรูและทรูวิชั่นส์ ได้ส่งหมายศาลไปยังผู้ให้บริการ IPTV ทุกค่าย ทั้งบริษัทซุปเปอร์ บรอดแบนด์เน็ทเวอร์ค จำกัด( AIS Play) , 3BB และ NT โดยปิดหมายหน้าที่ทำการระบุว่า ทางทรูโฟร์ยูสเตชั่น และทรูวิชั่นส์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อดำเนินคดีกับผู้ให้บริการทุกค่ายที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก2000ของกลุ่มทรูในครั้งนี้ จึงมีคำสั่งให้ทุกรายต้องยุติการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ของฟีฟ่าในทันที
*กสทช. “ตัวตึง”ของจริง…โบ้ยส่งเรื่องของเอกชน
ขณะที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในการทำหนังสือไปยังผู้ให้บริการกล่องไอพีทีวี เมื่อวันที่ 24 พ.ย.เป็นการแจ้งไปตามติบอร์ดกสทช. ที่ให้ทางผู้ประกอบการเอกชนปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง กฎมัสต์ แครี่ และควบคุมให้มีการถ่ายทอดเฉพาะในประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็ได้ขอให้ทางผู้ประกอบการพิจารณาตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการดำเนินคดีของทรูเป็นเรื่องระหว่างเอกชนไม่เกี่ยว กสทช. อย่างไรก็ตามทาง กสทช.อยู่ระหว่างการขอข้อมูลการทำสัญญาระกว่าง กกท. กับทรู แต่ยังไม่ได้รับแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าก่อนหน้านั้นสำนักงาน กสทช.ยังได้ทำหนังสือแจ้งมติ บอร์ด กสทช.ตอกย้ำไปยัง กกท. ให้บริหารสิทธิในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ทุกราย โดยจะต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี ตามข้อ 3 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 เท่านั้น และต้องมีการออกอากาศเนื้อหาเดียวกันทุกช่องทางทั้งในระบบภาคพื้นดินและระบบผ่านดาวเทียมหรือระบบเคเบิลอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการปิดกั้นช่องทางการได้รับชมทั้งหมดหรือบางส่วน ตามข้อ 4 ของประกาศฉบับเดียวกัน พร้อมทั้งต้องตรวจสอบและควบคุมการออกอากาศการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 (FIFA World Cup Final 2022) ให้มีการออกอากาศเฉพาะในประเทศไทย
“ท่าทีของผู้บริหาร กสทช.ที่ออกมาข้างต้น ทำเอาวงการโทรทัศน์พากันงงไปตาม ๆ กัน เพราะตัวเองร่อนหนังสือไปถึงผู้ประกอบกิจการ IPTV ทุกค่ายเองแท้ๆ ให้ต้องเผยแพร่รายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดบอลโลก2022 ทางทีวีภาคพื้นผ่านกล่อง IPTV และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ตามกฎเหล็ก Must Have Must Carry อย่างเคร่งครัด แถมยังร่อนหนังสือไปถึง กกท.ให้ปฏิบัติตามกฎเหล็ก กสทช.อย่างเคร่งครัด แต่พอทรูวิชั่นส์ร่อนสารขู่ฟ้องใครก็ตามที่แพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกซ้ำตามคำสั่ง กสทช. โดยอ้างว่าทางทรูและทรูวิชั่นส์เท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดในทุกช่องทางเพียงรายเดียว กสทช.กลับโบ้ยส่งว่าเป็นเรื่องเอกชนที่จะว่ากันไปเอง ไม่เกี่ยวกับ กสทช.อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า กสทช.ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อการบังคับใช้กฎหมาย และประกาศหลักเกณฑ์อะไรของตนเลย แล้วอย่างนี้จะมีองค์กร กสทช.ไปทำซากอะไร”
*เครือข่ายภาคประชาชนจ่อร้องปปช.-ฟ้องศาล
แหล่งข่าวจากวงการโทรทัศน์ เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้เครือข่ายในภาคประชาชนที่เกรงว่าจะถูกริดรอนสิทธิ์จากความไม่เอาถ่านของ กสทช.ต่อการบังคับใช้กฎเหล็ก “มัสต์แคร์รี่”ของตนเอง และปล่อยให้ค่ายสื่อสารบางรายที่กินรวบทุกธุรกิจอยู่แล้ว อาศัยความไม่เอาถ่านของรัฐเตรียมสั่งจอดำอีกครั้ง กำลังเตรียมรณรงค์ให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการผูกขาด กินรวบผลประโยชน์ของประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ รวมถึงขั้นยกเลิกการดูบอลโลกผ่านกล่องทรู หรือซิมทรูไปเลย
นอกจากนี้ยังเตรียมร้องการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.)และ กสทช.ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐใน กกท.ไปทำสัญญายกลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก2022 ที่ถือเป็นทรัพย์สินของรัฐที่ได้มาจากเม็ดเงินภาษีของรัฐส่วนหนึ่ง และจากเงินลงทุนของธุรกิจที่มอบให้รัฐเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ แต่กลับมีการโยกลิขสิทธิ์ที่ควรเป็นของรัฐเหล่านั้นไปให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์บางรายได้ผลประโยชน์ไปทั้งหมด
ทั้งนี้ การที่ กกท.ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามความหมายของ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เมื่อได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนร่วม 700 ล้านบาทรวมกับเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กองทุน กทปส.) 600 ล้านบาท และเงินจากกองทันพัฒนาการกีฬาอีก 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน และเงินของเอกชนที่มอบให้รัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ เงินทั้งหมดจึงถือเป็นเงินของรัฐ เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากฟีฟ่า จำนวน 64 นัด ดังนั้น ลิขสิทธิ์ดังกล่าวจึงถือเป็นของรัฐด้วย
“การที่ กกท. ยินยอมให้กลุ่มทรูได้สิทธิถ่ายทอดสดจำนวน 32 นัดจากทั้งหมด 64 นัดอันเป็นการมอบ “สิทธิ” พิเศษนอกเหนือจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์รายอื่นๆ จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทรูได้ประโยชน์ในการรับค่าโฆษณาทางธุรกิจ ทำให้ประชาชนคนไทยได้รับความเสียหายจึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิดตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
และหาก กกท.หรือหน่วยงานของรัฐคนใดทำสัญญาหรือยืนยันว่าทรู เป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เพียงรายเดียว ที่ออกค่าใช้จ่ายจึงควรได้รับ “สิทธิ” พิเศษ ดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ซึ่งได้ให้ความหมายของ “การเสนอราคา”ในมาตรา 3 ว่า การยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐซึ่งรวมถึงการได้รับสัมปทาน หรือการได้รับสิทธิใดๆ จากหน่วยงานของรัฐด้วย และยังมีความผิดตามมาตรา 11 ที่บัญญัติว่าเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด โดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม…. มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษ……ขณะที่ในส่วนของกลุ่มทรูและทรูวิชั่นส์นั้น ต้องถือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดในทางอาญาด้วย เพราลิขสิทธิ์ ที่ทรูอ้างว่า ได้รับสิทธิ์จากหน่วยงานของรัฐ กกท.นั้น ย่อมเป็นสิทธิ์ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในส่วนของ กสทช.นั้น ถือเป็นหน่วยงานเดียวที่ต้องมีหน้าที่กำกับให้การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 เข้าถึงช่องทางการรับชมของประชาชนฟรี และเสมอภาคโดยไม่มีเงื่อนไข หากไม่ดำเนินการก็ย่อมอยู่ในข่ายสนับสนุนการกระทำผิด ที่ต้องถูกดำเนินคดีตามป.อาญามาตรา 157 ด้วยอีก