“…เหตุการณ์ Zipmex , Ziplock และ Zipup+ เป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่าง exchange ไทยกับต่างชาติหรือเปล่า? จากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วระดับพันล้าน เป็นเวลากว่า 4 เดือน ก.ล.ต. ปรับเงินไปเพียง 1.92 ล้านบาท ด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ พร้อมทั้งสั่งการ กล่าวโทษอีกครั้งสองครั้ง พอเป็นพิธีให้คนรู้ว่าติดตามเรื่องอยู่ แต่ประชาชนตั้งคำถามว่าทำเท่านี้เพียงพอแล้วหรือ เมื่อหันไปมองประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้คริปโตฯ ติดอันดับโลก ตามด้วยประเทศฟิลิปปินส์, ยูเครน อินเดีย และสหรัฐฯ “สปป. ลาว” ทุ่มเทเปิดรับเทรนด์คริปโตฯ ระวังไทยจะถูกเวียดนามหรือแม้แต่ สปป.ลาวแซงหน้า เพราะไม่ส่งเสริม “คลื่นลูกใหม่” ที่มีพลังช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องยากของเลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ ที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566…”
ในปี 2565 ที่ผ่านมา วงการคริปโตเคอร์เรนซีมีแต่เรื่องชวนปวดหัว ท่ามกลางกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ยังติดหล่ม บางกฎเกณฑ์หาความชัดเจนไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอยู่เนืองๆ จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องคอยติดตามดูว่ากฎระเบียบที่ ก.ล.ต.ประกาศออกมานั้นจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการกำกับดูแล ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ที่ดูเหมือนจะเอาจริงเอาจังในการควบคุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้อยู่ในกฎกติกา แต่กลับเกิดกรณีความผิดพลาดของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ที่นำเงินของผู้ลงทุนไปดำเนินการนอกเหนือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎระเบียบ เมื่อความผิดปรากฏชัด กลับโดนลงโทษเบาบาง จนเกิดคำถามตามมาว่าบทลงโทษของ ก.ล.ต. เป็นการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า?
โดยล่าสุด 23 ก.พ. 2566 Zipmex Thailand รายงานว่า ภายหลังศาลสูงประเทศสิงคโปร์ ได้อนุมัติขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2566 นั้น บริษัท Zipmex Pte Ltd และ บริษัท Zipmex Australia Pty Ltd และ บริษัท Zipmex Asia Pte Ltd (รวมกันเรียกว่า “ซิปเม็กซ์”) ได้ดำเนินกระบวนการตามคำสั่งของศาลสิงคโปร์ รวมถึงการดำเนินการตามแผนการจัดการอย่างเคร่งครัด ทำให้ในวันนี้ “ซิปเม็กซ์” ประกาศว่าบริษัททั้งสามได้ดำเนินการจัดให้เจ้าหนี้และลูกค้าซึ่งมีสินทรัพย์อยู่ใน Z Wallet ลงคะแนนเสียงในแผนการจัดการโดยเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยกระบวนการต่อไปคือการรอผลพิจารณาของผู้จัดการแผนซึ่งได้รับการแต่งตั้ง และคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์และมีผลลัพธ์ในทิศทางที่เป็นบวกภายในวันที่ 21 มีนาคม 2566
ช่วงเวลาที่ผ่านมา Zipmex สร้างภาระให้เจ้าหนี้ ซึ่งเคยเป็นลูกค้าทั้งหมด ต้องกรอกแบบฟอร์มพร้อมจำนวนเงินที่เป็นหนี้ภายในวันที่ 21 ก.พ. และมี KordaMentha ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการของบริษัท ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเสร็จสิ้นการถอนเงินโดยมีเงื่อนไขว่า ข้อตกลงการลงทุนจะปิดภายในวันที่ 21 มี.ค. ตามประกาศ ภายใต้ข้ออ้างว่า…ข้อตกลงการช่วยเหลือตอนนี้อยู่ในช่วงของการเจรจาในรายละเอียดซึ่งมีการลงนามบางอย่าง แต่ยังไม่สามารถปิดดีลได้ เพราะข้อตกลงยังไม่เสร็จสิ้น
ความยุ่งยากเหล่านี้ ผิดกับตอนที่ให้บริการ ที่อะไรก็ดูเหมือนง่ายไปเสียทุกอย่าง ความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท สวนทางไปกับการกล่าวโทษ และลงโทษปรับ Zipmex Thailand เป็นจำนวนเงินที่น้อยมากจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2565 สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศ เผยแพร่ข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายในรอบ 3 เดือน โดยลงโทษปรับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ตามความผิดมาตรา 30 และ 31 แห่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นจำนวนเงิน 1.92 ล้านบาท จากเหตุหยุดให้บริการนักลงทุนโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) และระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet และ Z-wallet ตามข้อมูลดังกล่าว ตอกย้ำว่า นี่คือการควบคุมกฎโดย ก.ล.ต. ไทย Zipmex โดนโทษปรับเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายกว่า 2 พันล้านบาท ทั้งที่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในหมู่นักลงทุนไทย มีหลายกระทง ไล่ตั้งแต่ การหยุดให้บริการ การประวิงเวลาส่งข้อมูล และการนำสินทรัพย์ของนักลงทุนไปเผชิญความเสี่ยงจาก ZipUp+
ดังนั้นในแวดวงคริปโตฯ และตลาดทุนบางส่วนจึงมองว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะมีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่านี้หรือเปล่า เหตุการณ์ Zipmex , Ziplock และ Zipup+ เป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่าง exchange ไทยกับต่างชาติหรือเปล่า?
จากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วระดับพันล้าน เป็นเวลากว่า 4 เดือน ก.ล.ต. ปรับเงินไปเพียง 1.92 ล้านบาท ด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ พร้อมทั้งสั่งการ กล่าวโทษอีกครั้งสองครั้ง พอเป็นพิธีให้คนรู้ว่าติดตามเรื่องอยู่ แต่ประชาชนตั้งคำถามว่าทำเท่านี้เพียงพอแล้วหรือ
มีการตั้งข้อสงสัยว่า กฎระเบียบบางอย่าง ก.ล.ต.เข้มงวดกับริษัทคริปโตฯ ไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ กลายเป็นการสร้างความลักลั่น ได้เปรียบ เสียเปรียบ ในกลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ การกำหนดให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนทำธุรกิจคริปโตฯ ได้เฉพาะการเปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถเป็นโบรกเกอร์ไลเซ่นส์ หรือ เป็นผู้จัดการการลงทุนได้ ทั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์กำหนด
ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เดินสายโชว์ผลงาน เคลมว่าบัญชีการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จากปี 2562 ซึ่งมีประมาณ 1 แสนบัญชี เป็นประมาณ 3 ล้านบัญชี ภายในเวลา 3 ปี ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เวลากว่า 40 ปี จึงมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ต่างชาติเชื่อมั่นต่อวงการคริปโตฯ ไทย แต่แท้จริงแล้วล้วนเป็นผลงานของเอกชนทั้งสิ้น
เมื่อหันไปมองประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้คริปโตฯ ติดอันดับโลก ตามด้วยประเทศฟิลิปปินส์, ยูเครน อินเดีย และสหรัฐฯ “สปป. ลาว” ทุ่มเทเปิดรับเทรนด์คริปโตฯ ผ่านการอนุญาตให้บริษัท 6 แห่งทำการค้าและขุดเหรียญคริปโตฯ ระวังไทยจะถูกเวียดนามหรือแม้แต่ สปป.ลาวแซงหน้าเพราะไม่ส่งเสริม “คลื่นลูกใหม่” ที่มีพลังช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ออกกฎแปลกๆ ที่นักลงทุนเกาหัวแกรกๆ ว่าออกมาเพื่ออะไร หรือออกมาเพื่อใคร จนอาจถูกตราหน้าว่า regulator ไทยไร้ความสามารถ
ต้องยอมรับว่า ถ้ากฎเกณฑ์ยังมีความหละหลวม ลักลั่น นอกจากรายเก่าจะทำธุรกิจได้ยากแล้ว รายใหม่ก็ไม่กล้าเข้ามา กลายเป็นการบอนไซธุรกิจคริปโตฯ เมืองไทยให้แคระแกร็น และอาจถูกหลายๆ ประเทศในอาเซียนทยอยแซงหน้า หรือถูกยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาคว้าชิ้นปลามันไปอย่างน่าเสียดาย งานนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องยากของเลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ ที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ก.ล.ต.จะมีเลขาฯคนใหม่ แทนเลขาธิการคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลต่างคาดหวังมิติใหม่ในการสร้างสรรค์ตลาดคริปโตฯ ไทย ซึ่งเป็นความท้าทายของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนกฎเกณฑ์เดิม หากวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ดีก็จะสามารถก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต หากได้รับการพัฒนา ส่งเสริม อย่างถูกทิศ ถูกทาง สินทรัพย์ดิจิทัลน่าจะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้อย่างน่าจับตามอง
#สืบจากข่าว : รายงาน