BRIC ก่อตัวขึ้นในปี ค.ศ. 2009 ด้วย 4 ประเทศ ประกอบด้วย Brazil (B) Russia (R) India (I) และ China (C) เรียกตัวเองว่าประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด (Emerging Market) ต่อมาได้เปิดรับ South Africa หรือ “แอฟริกาใต้” เข้าเป็นสมาชิก BRIC ซึ่งเป็นการเติมตัว S (South Africa) ต่อท้าย เป็น BRICS
จาก 5 ประเทศ BRICS ได้แสดงเจตนารมณ์ของการขยายตัวขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น เริ่มจาก “อิหร่าน” ซึ่งมีก๊าซสำรองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ได้สมัครเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปเกิดความกังวล เนื่องจากรัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกชั้นนำของ BRICS กำลังใช้องค์กรนี้เพื่อต่อต้านอำนาจของตะวันตกหรือไม่ หลังจากที่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในวงกว้างต่อรัสเซีย
ซาอุดีอาระเบียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่แสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนมองว่าเป็นความล้มเหลวของนโยบาย “น้ำมันเพื่อความมั่นคง” ของวอชิงตัน ที่พยายามหว่านล้อมแกมบีบบังคับ และเจตนาที่จะแทรกแซงกิจการตะวันออกกลางให้ผลิตน้ำมันตามความต้องการของสหรัฐอเมริกา โดยซาอุดีอาระเบียและแอฟริกาใต้ได้ลงนามในข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจมูลค่าประมาณ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างการเยือนกรุงริยาดของประธานาธิบดีแอฟริกาใต้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกว่าถึงเวลาที่กลุ่ม BRICS จะต้อนรับสมาชิกใหม่ “ซาอุดีอาระเบีย” ประเทศอภิมหาเศรษฐีจากตะวันออกกลาง เพื่อเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะจัดระเบียบโลกใหม่ ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา แอลจีเรีย บาห์เรน อินโดนีเซีย ก็ร้องขอเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ
ล่าสุด อียิปต์กำลังมีแผนปลีกตัวออกจากดอลลาร์สหรัฐ เข้าสู่การค้าร่วมกับหลายชาติสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS จากการเปิดเผยของ อาลี โมเซลฮี รัฐมนตรีกระทรวงอุปทานของอียิปต์เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามรายงานของรอยเตอร์ โมเซลฮี กล่าวว่า อียิปต์กำลังหาทางใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับชำระสินค้านำเข้าจากอินเดีย จีน และ รัสเซีย ชาติสมาชิกหลักของกลุ่ม BRICS รวมถึงบราซิลและแอฟริกาใต้
ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วน 40% ของประชากรโลก มีเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ BRICS ได้แซงหน้ากลุ่มจี7 เรียบร้อยแล้ว