วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจEECเสียงสะท้อน “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ดึงจีนโพ้นทะเลร่วมพลิกเศรษฐกิจไทย

Related Posts

เสียงสะท้อน “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ดึงจีนโพ้นทะเลร่วมพลิกเศรษฐกิจไทย

นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวร หอการค้าไทย-จีน กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกว่า ปัจจุบันโลกของเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก เราจึงจำเป็นต้องศึกษาวิทยาการด้านต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกา และต้องนำทรัพยากรจากทั่วโลก ทั้งด้านบุคคลากร เงินทุน เทคโนโลยี ซึ่งในวันนี้ถือว่าจีนมีปัจจัยพื้นฐานในด้านต่าง ๆ เหล่านี้พร้อมที่จะพลิกโฉมการพัฒนาจากเดิมที่ใช้แรงงานราคาถูก เราจึงมีความมั่นใจในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก

ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่โครงการที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  เช่น สิทธิปลอดภาษี ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ลงทุนที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก จึงหวังว่านักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก จะพิจารณามาลงทุนที่ไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

โลกยุคใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องแข่งขันในด้านการค้า จึงต้องมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี รวมถึงต้องพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติ แข่งขันได้อย่างไม่เพลี่ยงพล้ำในเวทีโลก ซึ่งโลกอนาคตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์และไบโอเทคโนโลยี แต่ไม่ต้องกลัวคนตกงาน เพราะหุ่นยนต์จะใช้แรงงานแทนคน ส่วนคนต้องหันไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงกว่านั้น การค้าของโลกในอนาคต จึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น คุณภาพของสินค้าก็จะดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เศรษฐกิจในยุค 4.0 ไม่ได้หมายถึงให้เราละทิ้งธุรกิจเก่าที่เคยมีมาก่อน แต่ให้เราใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจที่เรามีอยู่ ทำให้ธุรกิจมีความทันสมัยมากขึ้น และสามารถขยายธุรกิจออกไปให้มากขึ้น

การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจ การค้า การลงทุน เชื่อมโยงเครือข่ายกับนักธุรกิจเชื้อสายจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งยังมีบทบาทเสมือนสะพานเชื่อมสำคัญระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับภาคธุรกิจเอกชนในนานาประเทศ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts