แม้ล่าสุด ผู้นำสหรัฐและเวียดนามจะหารือร่วมกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นขึ้นและมีเป้าหมายยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ระดับใหม่เมื่อเป็นไปได้
ตอนนี้เศรษฐกิจของจีนอยู่ในช่วงขาลง แต่อิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่างๆ และ“คุณค่าแห่งเอเชีย” ที่ผลักดันให้รัฐบาลปักกิ่งมีความสำคัญต่อทุกประเทศในอาเซียนไล่ตั้งแต่เวียดนามไปจนถึงอินโดนีเซียมากกว่าสหรัฐที่นับวันความสัมพันธ์ค่อยๆ จืดจางลง
เว็บไซต์นิกเคอิเอเชีย นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยเปิดประเด็นว่า ในการเปิดประชุมว่าด้วยการเมืองของจีนในกรุงฮานอยเมื่อปลายปีที่แล้ว ชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมนี้รีบสร้างความมั่นใจแก่บรรดาผู้เข้าร่วมว่า “การพูดคุยเกี่ยวกับระบบการเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ใช่การแทรกแซงระบบการเมืองของประเทศนั้นๆ”
มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่รู้จักจีน ดีเท่ากับเวียดนาม รวมถึง ความเชี่ยวชาญในการที่จะรับมือกับจีน ด้วยทักษะที่เรียนรู้มานานหลายร้อยปี เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การค้าข้ามพรมแดน การสู้รบ และการทำสงครามในบ้างครั้ง ทั้งบนบก และทางทะเล
แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวเวียดนามรู้สึกว่าถูกบังคับให้เปิดการเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รวมถึงอำนาจของนายสี ที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยความรับผิดชอบในวงจำกัด ตอกย้ำให้เห็นว่า บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังดิ้นรนรับมือกับความแข็งแกร่ง และอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของจีน
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนเดินทางเยือนเวียดนามช่วงกลางเดือนก.ย.นี้ เพื่อลงนามข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเวียดนาม ซึ่งข้อตกลงนี้จะเปิดทางให้มีความร่วมมือทวิภาคีใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมความพยายามของเวียดนามในการพัฒนาภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านต่างๆ รวมถึงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์
ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า การเดินทางเยือนเวียดนามครั้งนี้เป็นเพราะเวียดนามต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐและก้าวขึ้นมาเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐ แต่ทำเนียบขาวไม่ได้ยืนยันแผนการเยือน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามก็ยังไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็น และโฆษกกระทรวงฯไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธความเป็นไปได้ในการเยือนไบเดน
“ผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศตกลงกันแล้ว และกำลังหารือมาตรการต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นขึ้นในลักษณะที่มั่นคงและระยะยาวและมีเป้าหมายที่ยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ระดับใหม่เมื่อเป็นไปได้” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ระบุ
ในการประชุมเมื่อเดือน เม.ย. นายกรัฐมนตรี ‘ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์’ และ‘แอนโทนี บลิงเคน’ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แสดงความปรารถนาที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น ขณะที่วอชิงตันพยายามกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในเอเชียเพื่อตอบโต้จีนที่ขยายอิทธิพลมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ไม่ได้กล่าวว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐและเวียดนามครั้งจะเกี่ยวข้องกับอะไร แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาจรวมถึงความร่วมมือทางทหารที่เพิ่มขึ้นและอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐ
จีน เป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่สุดของกลุ่มอาเซียนที่มีสมาชิก 10 ประเทศ ทั้งยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนารายใหญ่สุดแก่ภูมิภาคนี้ โดยมีมูลค่าที่ปีละ 5.5 พันล้านดอลลาร์
นับตั้งแต่ปี 2558 ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีน และการลงทุนที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคนี้ คือ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทำให้เกิดคำถามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่า โลกหลังยุคอเมริกา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นโลก ที่มีจีนเป็นศูนย์กลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือไม่
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นยิ่งขึ้นเรื่อยๆระหว่างจีนและประเทศต่างๆ ในอาเซียน ผ่านทางความพยายามของรัฐบาลจีนในการใส่ความเป็นจีนลงในความสัมพันธ์ทุกมิติกับภูมิภาคภายใต้พื้นฐานที่ว่าจีนและบรรดาชาติต่างๆ ในเอเชียน่าจะทำงานร่วมกันให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่ากันคนนอกอย่างเช่นสหรัฐออกไปจากความสัมพันธ์นี้โดยปริยาย
พลเอกหลี่ ฉางฟู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน กล่าวในเวทีประชุมแชงกรีลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ว่า การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่มีลักษณะเดียวกันกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ(นาโต) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง และการเผชิญหน้ากัน ซึ่งมีแต่ที่จะทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ เข้าสู่วังวนของความขัดแย้ง
ในโอกาสนี้ พลเอกหลี่ ยังระบุอีกว่า ในเวลานี้ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำเป็นต้องมีความร่วมมือที่เปิดกว้างและครอบคลุม ไม่ใช่การจับคู่หรือก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรเพียงไม่กี่ประเทศ พร้อมเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงหายนะที่เกิดขึ้นจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้คนทั่วโลก และต้องไม่ทำให้ประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำรอย พร้อมย้ำว่า โลกใบนี้ใหญ่พอที่จีนและสหรัฐ จะเติบโตไปด้วยกันได้
“จีนกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ผูกพันกันทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ วัฒนธรรมและสายสัมพันธุ์ของครอบครัว เราปฏิบัติต่อกันและกันดุจพี่น้อง” รมว.กลาโหมจีน กล่าว
คำพูดของรัฐมนตรีกลาโหมจีนฟังดูเปิดกว้าง แต่ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนและหลายประเทศในอาเซียน ไม่ได้ดีเหมือนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะต่างๆในทะเลจีนใต้, การเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาว่าแทรกแซงการเมืองผ่านชนกลุ่มน้อยชาวจีนกลุ่มต่างๆ การล่วงละเมิดต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงของรัฐบาลปักกิ่งสร้างความไม่พอใจแก่รัฐอิสลามหลายประเทศเช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย