หลี่เฉียง ร่วมประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน หนุนก้าวสู่ศูนย์กลางความร่วมมือระดับภูมิภาคและบทบาทที่เพิ่มขึ้นในกิจการระหว่างประเทศ ด้าน โจโก วิโดโด กระตุ้นอาเซียนรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกัน สร้างความร่วมมือ ความเจริญรุ่งเรือง เสถียรภาพ และสันติภาพ ทั้งในภูมิภาคและระดับโลก
เมื่อวันอังคาร (5 ก.ย.) หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เดินทางถึงกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย พร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 18
“จีนสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาคและบทบาทที่เพิ่มขึ้นของอาเซียนในกิจการระหว่างประเทศ” หลี่ กล่าว
การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง สรรค์สร้างความเจริญ” เริ่มต้นขึ้น ณ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ในวันอังคาร (5 ก.ย.) โดยมุ่งเน้นการสร้างภูมิภาคอาเซียนเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำนักข่าวซินหัว รายงาน โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนประจำปีนี้ และเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมฯ กล่าวกระตุ้นอาเซียนรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันและไม่เป็นตัวแทนของมหาอำนาจใดๆ อันจะสร้างความเสียหายต่อกัน เพื่อทำให้อาเซียนเป็นรากฐานสำหรับสร้างความร่วมมือ ความเจริญรุ่งเรือง เสถียรภาพ และสันติภาพ ทั้งในภูมิภาคและระดับโลก
คณะผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนจะหารือประเด็นต่างๆ ที่กำหนดอนาคตของอาเซียนในฐานะประชาคมและสถาบัน ขั้นตอนที่จะเพิ่มความรวดเร็วของการตัดสินใจยามเกิดวิกฤติและเหตุฉุกเฉิน รวมถึงขั้นตอนส่งเสริมความสามารถของอาเซียนในการรับมือกับสารพัดความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในภูมิภาค
“อาเซียนในฐานะเรือลำใหญ่ มีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ต่อประชาชนหลายร้อยล้านคนที่ร่วมเดินทางกับเรา แม้เราจำต้องแล่นเรือท่ามกลางคลื่นสูง แต่ในฐานะผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน เราต้องรับประกันว่าเรือจะแล่นต่อได้ดี และขับเคลื่อนเรือลำนี้สู่สันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง” วิโดโดกล่าว
อนึ่ง อาเซียนก่อตั้งปี 1967 มีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยรายปีของอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 3.98 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของโลกที่ร้อยละ 2.6
วิโดโดกล่าวว่าอาเซียนมีทุนมหาศาลเพื่อบรรลุการเป็นศูนย์กลางการเติบโต แต่อาเซียนต้องทำงานหนักขึ้น ร่วมมือกันมากขึ้น กล้าหาญยิ่งขึ้น และขับเคลื่อนเร็วขึ้น รวมถึงต้องการยุทธศาสตร์เชิงยุทธวิธีและเชิงปฏิบัติระยะยาวที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ไม่ใช่เพียงช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่รวมถึง 20 ปีข้างหน้าจนถึงปี 2045 ด้วย
ข้อมูล-ภาพ : ซินหัว