วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนอาเซียน–จีน ชู Belt and Road ยกระดับความมั่นคง-ปลอดภัยอาหาร

Related Posts

อาเซียน–จีน ชู Belt and Road ยกระดับความมั่นคง-ปลอดภัยอาหาร

ไทยร่วมหารือระดับรัฐมนตรีอาเซียน – จีนด้านสุขอนามัยพืช SPS ชูประเด็นส่งเสริมเทคโนโลยี มุ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเชื่อมโยงเส้นทางในภูมิภาค ขนส่งอาหารผ่านเส้นทาง Belt and Road

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอาเซียน – จีน ครั้งที่ 8 (The 8th ASEAN – China Ministerial Meeting on Sanitary and Phytosanitary (SPS) Cooperation) ภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนในความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (ASEAN-China MOU on SPS) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งจัดขึ้นในห้วงการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ครั้งที่ 45

ไทยได้กล่าวสนับสนุนและแสดงเจตนารมณ์ในการผลักดันความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างอาเซียนและจีน รวมทั้งความร่วมมือด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและการค้าสินค้าเกษตร ซี่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ว่า “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยเฉพาะการพัฒนาและใช้งานใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-SPS certificate) การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และระบบแจ้งเตือน (Rapid Alert System) เพื่อใช้สนับสนุนด้านความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยอาหาร และอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยไทยได้กล่าวขอบคุณจีนที่ได้พัฒนา China – ASEAN SPS Cooperation Website ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลด้าน SPS ของอาเซียนและจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างกันอย่างยิ่งในอนาคต พร้อมกันนี้ ไทยได้แจ้งถึงความตระหนักในความสำคัญของการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางขนส่งสินค้าภายในภูมิภาคและเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นผ่านเส้นทาง Belt and Road ต่อไป

จีนได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือแขนงต่างๆ ภายใต้ MOU on SPS เพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารและความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน และมีข้อเสนอริเริ่มความร่วมมือด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคสัตว์และโรคพืชข้ามแดน และการระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานระหว่างอาเซียนและจีน โดยจีนขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนการดำเนินการความร่วมมือในด้านดังกล่าว ซึ่งไทยเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน เนื่องจากสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของมาตรการ SPS แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียนและจีน ครั้งที่ 26 และการดำเนินการอื่นๆ ระหว่างอาเซียนจีน อาทิ ความก้าวหน้าการเจรจายกระดับกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแสดงถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนที่มีร่วมกันมาอย่างยาวนาน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบผลลัพธ์และข้อเสนอแนะจากการประชุมผู้ประสานงานความร่วมมือด้าน SPS อาเซียน-จีน และรับรองแผนปฏิบัติการประจำปี 2567 – 2568 ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เพื่อรายงานผลลัพธ์ในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในปี 2568 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts