“…คำว่า “เจ็บ จ่าย จบ” จึงกลายเป็น “วลีฮิต” ที่ติดปากและหูผู้คนเมื่อถูกดาราสาวอย่าง “เชียร์” นำไปถามแบบ “ฟาดแรง” กับ พลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ นายพลตำรวจที่เกษียณจากราชการไปแล้วคนหนึ่งซึ่งไปออกรายการ “โหนกระแส” ทางสถานีทีวีช่องสามเมื่อสี่ห้าวันก่อนนี้ มีคนเข้าไปดู “กว่าห้าล้านคน” ว่า จริงหรือไม่..?”
เนื่องจากเธอและเพื่อนๆ ทั้งดาราและประชาชน ต่างได้พบเห็นและรับรู้การดำเนินคดีที่ผลมักออกมาในลักษณะนี้อยู่เป็นประจำ!
รวมทั้งเรียกร้องด้วยเสียงอันดังผ่านรายการว่า ถึงเวลาที่รัฐ ต้อง “ปฏิวัติวงการตำรวจไทย” ได้แล้ว!
ก็ไม่ทราบว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้ยินเสียงเรียกร้องทั้งของดาราและประชาชนทั้งประเทศเช่นนี้บ้างหรือไม่?.”
เหตุการณ์ การเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ของ “น้องแตงโม” ดาราสาวผู้มีชื่อเสียง อันเป็นที่รักของประชาชน เนื่องจากเธอมีนิสัยตรงไปตรงมา เป็นตัวของตัวเอง น่ารักและร่าเริง เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างมาก
ทุกคนต่างอยากรู้ สาเหตุที่แท้จริงของการตกจากเรือเร็วของเศรษฐีคนมีเงิน และจมน้ำตายด้วยอาการสำลักน้ำปนดินและทรายเข้าไปในทางเดินหายใจแม้กระทั่งกระเพาะอาหารตามรายงานชันสูตรศพ
การสอบสวนของตำรวจได้ ผ่านไปกว่าหนึ่งสัปดาห์ แต่จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่มีใครออกมาอธิบายถึง พฤติการณ์แห่งการตาย ให้ญาติพี่น้องและประชาชนทั้งประเทศทราบและเข้าใจได้
ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุ จากการที่เธอจำเป็นต้องไปทำธุระส่วนตัวบริเวณท้ายเรือตามปากคำของ แซน ผู้ถือเป็น ประจักษ์พยาน เห็นเหตุการณ์เพียงคนเดียวขณะแตงโมพลัดตกน้ำไป
หรือว่าแท้จริงมีใครกระทำให้เธอตกลงไปในจุดอื่นของเรือ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาเพื่อให้ตายหรือเพียงทำร้าย หรือพยายามทำร้ายจนเป็นเหตุให้เธอต้องหลบหลีกจนพลัดตกเรือไปโดยผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจ หรือกระทำประมาทด้วยประการใดๆ ที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนั้น
ผู้สื่อข่าวจะซักถามอะไรในประเด็นสำคัญ ตำรวจผู้รับผิดชอบก็ได้แต่บอกว่า เป็นความลับในสำนวน ทั้งสิ้น
แม้กระทั่ง ความเร็วของเรือ ขณะเกิดเหตุ?
รวมทั้งผู้ขับเรือ ต้องใช้เวลา กว่าห้าวัน ตำรวจจึงเพิ่งออกมายืนยันตัวบุคคลได้!
ทำให้ผู้คนพากัน มโน ถึงสาเหตุและ พฤติการณ์แห่งการตาย ของเธอไปต่างๆ นานา
ซึ่งจะไปโทษประชาชนก็ไม่ได้ เนื่องจาก ส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อถือในการสอบสวนของตำรวจ มานานแล้วว่า ทุกคดีได้กระทำกันด้วยความสุจริตใจและตรงไปตรงมาอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์ต่างๆ ที่มีคนมีเงินหรือมีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องและอยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาคดีอาญา
ประชาชนจึงล้วนแต่คาดเดากันว่า การดำเนินคดีคงไม่มีทางนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมารับโทษตามกฎหมายได้เหมือนหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น
การที่ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติไม่มีความเชื่อถือต่อการสอบสวนคดีอาญาว่าตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดกันด้วยความสุจริตและครบถ้วนตรงไปตรงมา
ก็เนื่องจากว่า แต่ละคนล้วนแต่ได้เคยพานพบและมีประสบการณ์ รวมทั้งได้ยินได้ฟังมามากมายกับการสอบสวนของตำรวจไทยที่อาจกล่าวได้ว่า
“แทบทุกคดี ตำรวจสามารถจะสอบสวนให้ได้ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ได้”
เนื่องจากเป็น การสอบสวนในระบบปิด ที่สุดวิปริต!
ไร้การตรวจสอบจากองค์กรภายนอกตั้งแต่เกิดเหตุ อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะโดยพนักงานฝ่ายปกครอง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ หรือ แม้กระทั่งพนักงานอัยการ พื้นที่ผู้มีหน้าที่สั่งคดีและฟ้องพิสูจน์การกระทำผิดต่อศาล
ส่งผลทำให้การรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เป็นไปภายใต้การดำเนินการและครอบครองของตำรวจทั้งที่เป็นพนักงานผู้รับผิดชอบ รวมทั้ง “พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ” คือตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลระดับต่างๆ ที่มักมาปรากฏตัว และ สั่งด้วยวาจาหรือทางโทรศัพท์ ให้ พงส.ผู้รับผิดชอบทำโน่นนี่เพียงฝ่ายเดียว โดยปราศจากการรับรู้ของเจ้าพนักงานฝ่ายอื่นอย่างสิ้นเชิง
จึงไม่มีใครรู้ว่า ในแต่ละคดีที่เกิดขึ้น พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานกันอย่างครบถ้วนหรือไม่ได้ละเลยอะไรไปทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาบ้าง?
อย่างคดีน้องแตงโมเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา มีปัญหาและคำถามจากประชาชนมากมายนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ในฐานะ หัวหน้าผู้รักษาความสงบเรียบร้อยในท้องที่ และ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญา มาแต่โบราณและแม้กระทั่งปัจจุบัน กลับถูกจำกัดบทบาท ไม่ให้มีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องหรือรับรู้พยานหลักฐานอะไรในที่เกิดเหตุทั้งสิ้น
รวมทั้งอัยการผู้มีหน้าที่สั่งให้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานและฟ้องคดี เวลานี้ก็ทำได้แค่ นั่งนอนดูข่าวทางทีวี เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
เพราะ อัยการไทยไม่มีอำนาจ ไปตรวจ หรือแม้กระทั่งจะไปดูที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับอัยการในประเทศที่เจริญทั่วโลกได้
โดยผู้ที่คาดว่า ตนน่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเมื่อตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนไปให้ ซึ่งก็ไม่อาจรู้ได้ว่าแท้จริงเป็น นิยายสอบสวน หรือไม่นั้น?
ก็จะสามารถทำได้เพียงบันทึกข่าวหรือคำให้สัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ ไว้ เผื่ออาจได้ใช้เป็นหลักฐานในการสั่งให้ตำรวจสอบเพิ่มเติมอีกหนึ่งถึงสองครั้งเมื่อถึงเวลาที่ได้รับ สำนวน ที่เป็นเอกสารในคดีนั้นมา
การสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในมือของตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ซ้ำไม่มีการตรวจสอบจากภายนอกไม่ว่าจะโดยฝ่ายปกครองหรือพนักงานอัยการหลังเกิดเหตุทันทีเช่นนี้
ส่งผลทำให้ การล้มคดี มีโอกาสเกิดขึ้นได้แสนง่าย!
คำว่า เจ็บ จ่าย จบ จึงกลายเป็น วลีฮิต ที่ติดปากและหูผู้คน เมื่อถูกดาราสาวอย่าง เชียร์ นำคำนี้ไปถามแบบ ฟาดแรง กับพลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ นายพลตำรวจที่เกษียณอายุราชการไปแล้วคนหนึ่งซึ่งไปออกรายการ โหนกระแส ทางสถานีทีวีช่องสามเมื่อสี่ห้าวันก่อนนี้ มีคนเข้าไปดู เกือบห้าล้านคน ว่า จริงหรือไม่!
เนื่องจากเธอและเพื่อนๆ ทั้งดาราและไม่ใช่ดาราและประชาชน ต่างได้พบเห็นและรับรู้การดำเนินคดีที่ผลมักออกมาในลักษณะนี้อยู่เป็นประจำ
รวมทั้งเรียกร้องผ่านรายการด้วยเสียงอันดังว่า ถึงเวลาที่ รัฐ ต้องเร่ง ปฏิวัติวงการตำรวจไทย ได้แล้ว!
ก็ไม่ทราบว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะได้ยินเสียงทั้งของดาราและประชาชนทั้งประเทศนี้บ้างหรือไม่..?
โดย : พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร