“…สองวันของการประชุมที่กรุงปักกิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการขับเคลื่อนของสังคมโลกที่มีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ได้อย่างชัดเจน คำปราศรัยของ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็คือความทันสมัยร่วมกัน(共同现代化)การก้าวไปสู่ความทันสมัยร่วมกัน เปรียบดุจสายใยที่เชื่อมโยงเอาประเทศต่างๆเข้ามาอยู่ในขบวนแถวเดียวกัน ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ออกแรงพร้อมๆ กัน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน จีนกำลังรุ่งและตะวันตกกำลังเสื่อมเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งที่ยูเครนและตะวันออกกลางที่โลกตะวันตกแสดงบทบาทกระหายสงครามมากกว่าต้องการสร้างสันติภาพ ต้องการการเผชิญหน้ายิ่งกว่าความร่วมมือกันพัฒนา ซึ่งตรงกันข้ามกับบทบาทของจีนอย่างสิ้นเชิง เพราะแนวคิดการสร้างอนาคตร่วมกันของคนทั้งโลก(人类命运共同体)มิได้กำหนดขึ้นมาเพื่อคนบางส่วน แต่มุ่งไปยังมวลมนุษชาติโดยรวม อยู่เหนือผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะชาติพันธุ์ใดๆ ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็จะรวมถึงสหรัฐฯและประเทศต่างๆ ในโลกตะวันตกด้วย โดยมีจีนนำขบวน…”
ความเป็นประเทศใหญ่ เศรษฐกิจสังคมพัฒนารอบด้าน บวกกับความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านการเมืองการปกครอง มีแนวคิดกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ ไปสู่อนาคตที่ตั้งอยู่บนทิศทางการวิวัฒนาการของสังคมมนุษยชาติ ฯลฯ ทำให้ประเทศจีนสามารถแสดงบทบาทเป็นผู้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนของสังคมโลกโดยรวมได้โดยปริยาย ดูได้จากบรรยากาศการประชุมความร่วมมือนานาชาติระดับสูง หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่งเมื่อเร็วๆนี้ มีความคึกคักและเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าเมื่อเข้าร่วมกับจีนสร้างอนาคตที่ดีกว่า ความสำเร็จก็จะตามมาอย่างแน่นอน อีกนัยหนึ่ง โลกแบ่งขั้วภายใต้การกำหนดของกลุ่มทุนผูกขาดจะต้องหมดไป และโลกแห่งความกลมกลืนที่ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง ร่วมกันแบ่งปัน ที่ปัจจุบันนี้มีจีนเป็นหัวเรือใหญ่จะต้องเข้าแทนที่ ที่สุดแล้วก็จะรวมถึงสหรัฐฯและประเทศต่างๆในโลกตะวันตกด้วย
อนาคตข้างหน้าเป็นอย่างไร แต่ละประเทศย่อมมีเป้าหมายที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความจำเป็นรีบด่วนของตนเอง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในคำปราศรัยของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็คือความทันสมัยร่วมกัน(共同现代化)
การก้าวไปสู่ความทันสมัยร่วมกัน เปรียบดุจสายใยที่เชื่อมโยงเอาประเทศต่างๆเข้ามาอยู่ในขบวนแถวเดียวกัน ขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ออกแรงพร้อมๆกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน
บรรยากาศเชิงบวกที่ครอบคลุมเหนือกรุงปักกิ่งในช่วงสองวันของการประชุม สะท้อนให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนของสังคมโลกที่มีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ได้อย่างชัดเจน แม้ว่าปัจจุบันนี้ กลุ่มประเทศตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ ยังคงปฏิเสธบทบาทของจีนและพยายามหาทางสะกัดจีนในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะในระยะหลังนี้ ก็ได้นำเสนอโครงการความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับที่จีนเสนอ เพื่อแข่งกับจีน ซึ่งหลายๆ ประเทศก็ได้แต่ส่ายศีรษะหรือเพียงแค่พยักหน้าร่วมด้วย เพราะต่างขาดความเชื่อมั่นในสิ่งที่โลกตะวันตกเสนอในห้วงประวัติศาสตร์ที่จีนกำลังรุ่งและตะวันตกกำลังเสื่อม บวกกับเหตุการณ์ต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งที่ยูเครนและตะวันออกกลางที่โลกตะวันตกแสดงบทบาทกระหายสงครามมากกว่าต้องการสร้างสันติภาพ ต้องการการเผชิญหน้ายิ่งกว่าความร่วมมือกันพัฒนา ซึ่งทั้งหมดนั้นตรงกันข้ามกับบทบาทของจีนอย่างสิ้นเชิง
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศจุดยืนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จีนจะยืนอยู่บนความถูกต้องทางประวัติศาสตร์เสมอและถือเอาผลประโยชน์โดยรวมของมวลมนุษยชชาติเป็นที่ตั้ง ในเมื่อสังคมโลกได้ก้าวมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศต่างๆมีความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความทันสมัย จึงได้นำเสนอข้อริเริ่มต่างๆ สู่เวทีโลก โดยตั้งเป้าไว้อย่างชัดเจนว่าจะสร้างสังคมโลกที่มวลมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ มีความสมบูรณ์พูนสุขและเสมอภาคกัน เคารพซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โลกที่แบ่งเป็นกลุ่มประเทศมั่งคั่งไม่กี่ประเทศโดยทิ้งให้ประเทศส่วนใหญ่ให้ตกอยู่ในวังวนของความล้าหลังยากจนจะต้องหมดไป
อีกนัยหนึ่ง โลกแบ่งขั้วภายใต้การกำหนดของกลุ่มทุนผูกขาดจะต้องหมดไป และโลกแห่งความกลมกลืนที่ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง ร่วมกันแบ่งปัน ที่ปัจจุบันนี้มีจีนเป็นหัวเรือใหญ่จะต้องเข้าแทนที่
จึงไม่แปลกที่เพียงสิบปีเท่านั้น เสียงตอบรับและการเข้าร่วมในโครงการต่างๆที่จีนริเริ่มจึงเปิ่นไปอย่างคึกคักเหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะในโครงการต่างๆของความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งกำลังจะพาประเทศต่างกว่าครึ่งโลกก้าวไปสู่อนาคตด้วยกัน
บนเส้นทางนี้ ประเทศต่างๆสามารถร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน ร่วมกันพัฒนา สร้างความมั่นคง สร้างอารยธรรมใหม่ๆที่เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งโลกขึ้นมาได้เป็นขั้นๆ เปิดหน้าใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์โลกที่ไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ใดๆผูกขาด
เห็นได้ชัดว่า กระแสการพัฒนาของสังคมโลกกำลังขับเคลื่อนไปตามทิศทางที่จีนนำเสนอและทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเอาการเอางาน เพื่อเสริมเพิ่มปัจจัยเชิงบวก(正能量)ให้แก่ขบวนการขับเคลื่อนไปสู่อนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็จะรวมถึงสหรัฐฯและประเทศต่างๆในโลกตะวันตกด้วย
เพราะแนวคิดการสร้างอนาคตร่วมกันของคนทั้งโลก(人类命运共同体)มิได้กำหนดขึ้นมาเพื่อคนบางส่วน แต่มุ่งไปยังมวลมนุษชาติโดยรวม อยู่เหนือผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะชาติพันธุ์ใดๆ
แม้ว่าปัจจุบันนี้ยังมีความขัดแย้งและการแบ่งกลุ่มแบ่งค่ายกลายๆหลงเหลืออยู่ อันเป็นผลของการดิ้นรนของมหาอำนาจยุคเก่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ยังหลงใหลไขว่คว้าอยู่กับอดีต แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเสื่อมภายในของพวกเขาก็จะบั่นทอนความพยายามต่างๆเหล่านั้นลงไปเรื่อยๆ จนไม่อยู่ในฐานะที่จะดึงดันคานงัดกระแสการขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์โลกอีกต่อไป
ตรงกันข้าม กระแสความร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่จีนนำเสนอกลับคึกคักกะปรี้กะเปร่าอย่างยิ่งและนับวันจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นกระแสหลักกำหนดทิศทางการพัฒนาของสังคมโลกชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีจีนนำขบวน