“…ที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจตะวันตกได้ออกแบบสังคมโลกมาแล้วมากมาย แต่ในที่สุดก็ตกม้าตายเพราะการยึดติดอยู่กับผลประโยชน์ตัวเอง ซึ่งก็คือกลุ่มทุนผูกขาด ใจไม่ใหญ่พอที่จะแบกรับความรับผิดชอบในฐานะแกนนำของประชาคมโลก แบบที่จีนกำลังทำอยู่นี้ ในเชิงการบริหารก็คือ การออกแบบจากชั้นบนสุดที่จีนนำมาปรับใช้ในการบริหารทั้งในระดับชาติและระดับโลก บนฐานแห่งภูมิปัญญาใหม่นี้ สีจิ้นผิง และคณะยังเชื่อมโยงย้อนไปยังระบบภูมิปัญญาใหญ่โบราณจีน นำแนวคิดสร้างโลกเดียวกันมาพัฒนาเป็นแนวคิดสร้างอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ จีนที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมและอำนาจบริหารสูงสุดอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์เป็นหลัก ประสานกับการเดินแนวทางมวลชนมาโดยตลอด การออกแบบที่ชั้นบนสุดสามารถทำได้โดยไม่แปลกแยกจากความเรียกร้องต้องการของประชาชน…”
การออกแบบที่ชั้นบนสุด 顶层设计
วันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา ตรงกับวันเกิดครบรอบ 130 ปีของ “เหมา เจ๋อตง” คณะผู้นำจีนและประชาชนจีนทั่วประเทศได้จัดงานรำลึก ระลึกถึงคุณงามความดีของเขาที่นำประชาชนต่อสู้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งยืนขึ้นมาได้อย่างยิ่งใหญ่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศจีนยุคใหม่ ที่บัดนี้กำลังแสดงบทบาทชี้นำมวลมนุษยชาติไปสู่อนาคตร่วมกัน ด้วยแบบอย่างการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิวัฒนาการของอารยธรรมมนุษยชาติ และที่ชาวโลกกำลังต้องการ
จีนก้าวมาถึงวันนี้ได้ ก็เพราะมีแนวคิดชี้นำที่ถูกต้อง เริ่มจาก “เหมา เจ๋อตง” ที่ใช้หลักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ประสานเข้ากับความเป็นจริง แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นทฤษฎีปฏิวัติชี้นำการต่อสู้จนประสบชัยชนะ ต่อจากนั้น “เติ้ง เสี่ยวผิง” ก็ได้สานต่อใช้หลักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์กับความคิด “เหมา เจ๋อตง” ประสานเข้ากับสภาพเป็นจริงสรุปออกมาเป็นทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงชี้นำการพัฒนาประเทศเทศจนเจริญรุ่งเรืองทันตาเห็น และเมื่อถึงวันนี้ “สี จิ้นผิง” ก็ได้ประมวลแนวคิดทฤษฎีที่เกิดจากการประสานหลักการลัทธิมาร์กซ์ของทั้งอดีตและปัจจุบันเข้าเป็นความคิดทฤษฎีชุดใหม่ ชี้นำ
การสร้างจีนให้แข็งแกร่งทั่วทุกด้าน สำหรับการนำพามวลมนุษยชาติไปสู่อนาคตร่วมกัน โดยมีจีนในระบอบสังคมนิยมเป็นแกนนำ
พูดได้ว่าวิธีการนำของจีน ณ ปัจจุบันนี้ กำลังประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนทะยอยนำเสนอแนวทางการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจสังคมให้แก่สังคมโลก ขยายวงเพื่อนได้อย่างต่อเนื่อง เกิดฐานผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศต่างๆเกือบทั่วโลก
เท่าที่สังเกต คณะผู้นำพรรคฯ โดย “สี จิ้นผิง” เป็นแกนนำได้นำหลักการเดินแนวทางมวลชน หลักการประชาธิปไตยรวมศูนย์ของ “เหมา เจ๋อตง” และหลักทฤษฎีสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน ตลอดจนทฤษฎีอื่นที่ชี้นำการปฏิบัติมาเป็นระยะๆ หลอมรวมเข้าเป็นองค์รวมความคิดทฤษฎี “สังคมนิยมอัตลักษณ์จีนยุคใหม่”(新时代中国特色社会主义)ซึ่งสอดรับกับความเป็นจริงของจีนและของโลกโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง
บนฐานแห่งภูมิปัญญาใหม่นี้ “สี จิ้นผิง” และคณะยังเชื่อมโยงย้อนไปยังระบบภูมิปัญญาใหญ่โบราณจีน นำแนวคิดสร้างโลกเดียวกัน(大同世界)มาพัฒนาเป็นแนวคิดสร้างอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ (人类命运共同体)
การนำโดยวิธีนำเสนอแนวคิดชี้นำก่อน แล้วตามมาด้วยมาตรการรูปธรรม ที่สามารถปูทางไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายทั้งระยะใกล้และไกล แบบที่จีนกำลังทำอยู่นี้ ในเชิงการบริหารก็คือ การออกแบบจากชั้นบนสุด(顶层设计)ที่จีนนำมาปรับใช้ในการบริหารทั้งในระดับชาติและระดับโลก
การบริหารวิธีนี้ มีใช้กันทั่วไปในแวดวงธุรกิจ และเป็นหลักประกันความสำเร็จของกิจการเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะกลไกจัดตั้งภายในองค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกันข้ามกับกิจการของรัฐ ที่มักจะมีจุดอ่อนตรงที่รวมกันไม่ติด กระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก
แต่ประเทศจีนที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมและอำนาจบริหารสูงสุดอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ดำเนินระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์เป็นหลัก ประสานกับการเดินแนวทางมวลชนมาโดยตลอด การออกแบบที่ชั้นบนสุดสามารถทำได้โดยไม่แปลกแยกจากความเรียกร้องต้องการของประชาชน
ในทำนองเดียวกัน เมื่อพรรคฯจีนนำหลักการนี้มาปรับใช้ในระดับโลก สิ่งที่จะต้องยึดมั่นเสมอก็คือความเรียกร้องการของชาวโลกโดยรวม ซึ่งก็คือจะต้องเดินแนวทางมวลชน ถือเอาผลประโยชน์ของชาวโลกเป็นตัวตั้ง
ที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจตะวันตกได้ออกแบบสังคมโลกมาแล้วมากมาย แต่ในที่สุดก็ตกม้าตายเพราะการยึดติดอยู่กับผลประโยชน์ตัวเอง ซึ่งก็คือกลุ่มทุนผูกขาด ใจไม่ใหญ่พอที่จะแบกรับความรับผิดชอบในฐานะแกนนำของประชาคมโลก
ในการนี้ จีนจะต้องทำอะไรอีกมากอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และไม่กลัวการเสียสละที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในระหว่างทาง
ไขคำจีน