ความสัมพันธ์ของจีนและไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ล้วนส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ ประเทศส่วนใหญ่มองว่านโยบายรวมกันเป็นหนึ่งเดียว หรือการใช้นโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ อย่างน้อยก็ทำให้โลกไม่วุ่นวายจนเกินควบคุม
การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาต่อนโยบายการปกครองของไต้หวัน ด้วยการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลในรูปแบบต่างๆ ผสมกับการนำคำว่า “ประชาธิปไตย” มาโอบล้อมคนรุ่นใหม่ จนสร้างความร้าวฉานในบางเวลา กระทั่งมีคำถามตามว่า เป็นการประทำที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่กำลังคุกรุ่นอยู่ ณ เวลานี้ สะท้อนภาพชัดเจนว่าผลลัพธ์จากความร้าวฉานนั้น ได้ไม่คุ้มเสีย และถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คิดหรือว่าชาวยูเครนอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้
เรื่องราวระหว่าง “จีน” กับ “ไต้หวัน” ลึกซึ้งเกินกว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” จะจับแยกออกจากัน การค้าขายที่ทำร่วมกันมาหลายสิบปี ไม่มีทางที่ผู้นำไต้หวันคนไหนจะกล้าเปลี่ยนแปลงนโยบายเอาใจออกห่างจากจีน มูลค่าการค้าเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกของไต้หวันไปยังจีน มากกว่ามูลค่าการส่งออกของจีนมายังไต้หวัน จะสะเทือนเศรษฐกิจไต้หวันขนาดไหนหากมีปัญหากับจีน ทั้งสองประเทศพึ่งพาอาศัยกันในทางเศรษฐกิจมานานหลายสิบปี ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขไต้หวันขายสินค้าให้จีนมากกว่าซื้อจากจีน ในขณะเดียวกันไต้หวันก็เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในจีน ผู้ประกอบการเหล่านั้นย่อมไม่เห็นด้วยกับความร้าวฉานทั้งหลายทั้งปวง เพียงแค่จีนประกาศตัดการนำเข้าสินค้าจากไต้หวันกว่า 2,000 รายการ ตอบโต้กรณีแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อแสดงนัยทางการเมืองในทางที่สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่พึงประสงค์ ก็แสดงให้เห็นในความสำคัญของจีนที่มีต่อไต้หวันว่ามากมายขนาดไหน
การรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจชาวจีนบนสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน อยากสร้างความผูกพันกันเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายแบ่งปันความรุ่งโรจน์ ท่ามกลางแรงเชียร์ของประเทศต่างๆที่ต้องการเห็นสิ่งที่เรียกว่าสันติภาพ ทุกคนเบื่อความขัดแย้ง เบื่อสงคราม ต้องการทำมาค้าขาย สร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน และสร้างโลกที่ดียิ่งขึ้นเพื่อทุกคน นอกจาก “จีน” ถามว่าประเทศไหนจะมีศักยภาพทำให้โลกใบนี้กลับมาสู่สันติสุขได้