สีจิ้นผิง เคยกล่าวเนื่องในวาระวันนิเวศวิทยาแห่งชาติ (National Ecology Day) ว่า การอนุรักษ์ทางนิเวศวิทยามีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของจีนอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับพันธกิจและวัตถุประสงค์ของพรรคฯ รวมถึงประเด็นสำคัญทางสังคมที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
“จีนควรพยายามส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่วิธีการผลิตและวิถีชีวิตอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ พร้อมกับเร่งการเดินหน้าสร้างความทันสมัยที่มุ่งเน้นความกลมกลืนระหว่างมนุษยชาติและธรรมชาติเพื่อสร้างจีนที่สวยงาม (Beautiful China) ในทุกด้าน” สีจิ้นผิง กล่าว
สีจิ้นผิง เรียกร้องความพยายามอันเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องจากทั่วทั้งสังคม เพื่อมีส่วนส่งเสริมการร่วมสร้างโลกที่สะอาดและสวยงามยิ่งขึ้น ด้วยความพยายามรักษาไว้ซึ่งการแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ในการสร้างความก้าวหน้าทางนิเวศวิทยา และส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง ควบคู่กับการคุ้มครองที่มีมาตรฐานสูง ขณะย่างก้าวบนการเดินทางครั้งใหม่ของการสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ในทุกด้าน เกื้อหนุนการเปลี่ยนผ่านจากการควบคุมปริมาณและความเข้มข้นของการใช้พลังงาน สู่การควบคุมปริมาณและความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ความสำคัญกับการปล่อยคาร์บอนและความเป็นกลางทางคาร์บอน
ล่าสุด สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เฮมี บาฮาร์ นักวิเคราะห์อาวุโสประจำองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) แสดงความเห็นว่าการประสบผลสำเร็จด้านพลังงานหมุนเวียนของจีนถือเป็น “ตัวอย่างแก่ทั่วทั้งโลก”
รายงานแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนประจำปีขององค์การฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนมกราคม ระบุว่าโลกมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในปี 2023 มากกว่าในปี 2022 ราวร้อยละ 50 และคาดว่าจะเติบโตรวดเร็วที่สุดภายในช่วงห้าปีข้างหน้า
บาฮาร์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานข้างต้น กล่าวว่าสำหรับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จีนเพียงประเทศเดียวมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ราว 220 กิกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับการติดตั้งของทั้งโลกที่เหลือรวมกัน และเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในรอบหนึ่งปี
ทั้งนี้ บาฮาร์ให้สัมภาษณ์กับเซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ (SCMP) เมื่อไม่นานนี้ว่าจีนมีความโดดเด่นในฐานะผู้ผลิตโมดูลโซลาร์เซลล์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยครองส่วนแบ่งการผลิตโมดูลดังกล่าวสูงราวร้อยละ 80 ของทั่วโลก
รายงานขององค์การฯ ยังกล่าวถึงความคลาดเคลื่อนของต้นทุนการผลิตโมดูลโซลาร์เซลล์ชนิดโพลีซิลิคอน ชี้ว่าเมื่อเทียบกับต้นทุนในจีน การผลิตโมดูลดังกล่าวในสหรัฐฯ แพงกว่าร้อยละ 30 ในอินเดียแพงกว่าร้อยละ 10 และในสหภาพยุโรปแพงกว่าร้อยละ 60
บาฮาร์กล่าวว่าต้นทุนที่ถูกลงส่งผลให้ราคาโมดูลโซลาร์เซลล์ลดลงมากกว่าร้อยละ 80 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยราคาโมดูลโซลาร์เซลล์ที่ถูกลงนี้ช่วยทุกประเทศทั่วโลกขยายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์