ทูตจีนชี้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน ต้องมีกฎระเบียบและการแข่งขันแบบเท่าเทียม ด้วยการบังคับใช้กฎหมายป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดเครื่องหมายการค้า การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน การหลบเลี่ยงภาษี และการกระทำผิดกฎหมายรูปแบบอื่น ๆ
นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาของ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน หัวข้อ “ฟรีวีซ่าไทย-จีน สายสัมพันธ์ยั่งยืนเศรษฐกิจมั่งคั่ง” ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเห็นรายงานและการวิจารณ์มากมายบนสื่อและอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าราคาถูกของจีนมายังประเทศไทย ปัญหาหลักๆคือผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยที่ผลิตสินค้าที่คล้ายกันและบางส่วนก็เกี่ยวข้องกับการละเมิดเครื่องหมายการค้า การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน การหลบเลี่ยงภาษี และการกระทำที่ผิดกฎหมายรูปแบบอื่น ๆ
ผมอยากแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประการแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศควรดำเนินการภายใต้กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่รัฐบาลจีนมีต่อธุรกิจจีนและพลเมืองจีนที่ไปต่างประเทศตลอดมา เราสนับสนุนให้ฝ่ายไทยปราบปรามปัญหาการนำเข้าสินค้าจีนที่ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ประการที่สอง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้านั้นมีกฎระเบียบทางการค้าและมีการแข่งขันทางธุรกิจเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งควรให้ความเคารพในจุดนี้ ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์บางครั้งอาจมีปัจจัยลบอยู่บ้าง เรื่องที่คนส่วนใหญ่พอใจมักมีคนส่วนน้อยไม่พอใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องมีการควบคุมและจัดการอย่างองค์รวม ประการที่สาม นโยบายปลอดภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่สูงของไทยถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นมาตรการที่จำเป็นในการส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ฝ่ายจีนเองก็มีนโยบายคล้ายๆ กัน ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของนักธุรกิจที่ไร้ศีลธรรม สามารถป้องกันได้ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ได้ผลกำไรและป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ไปลงทุนในจีนหลังจีนเริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ และไม่กี่ปีมานี้ บริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัททุนจีนที่อยู่ในประเทศไทยจากทะเบียนของ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ปัจจุบันมีมากกว่า 850 บริษัท นอกจากบริษัททางการเงินและการบินจำนวนหนึ่งแล้ว ที่เหลือส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในภาคการผลิตหรือการก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาผลิตขึ้นถูกจำหน่ายไปยังทั่วโลก ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้จากการส่งออกของประเทศไทย เพิ่มโอกาสการเก็บภาษีและการจ้างงานให้ไทย และช่วยให้เยาวชนไทยหลายหมื่นคนได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านทักษะทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลในสังคมไทยอย่างแข็งขัน ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นอย่างดี
กิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทจีนที่ลงทุนในไทยนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วถูกกฎหมายและเป็นไปตามข้อกำหนดและเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ถ้ามีชาวจีนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “อุตสาหกรรมสีเทา” ก็นับว่ามีปริมาณน้อยมาก หากเปรียบการลงทุนของบริษัทจีนในประเทศไทยเป็นเหมือนป่าไม้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “ทุนสีเทา” ก็เป็นเพียงแค่ใบหญ้าซึ่งเป็นวัชพืชที่มีพิษเท่านั้น การปกป้องป่าไม้ ไม่ใช่ถางป่าทั้งหมดเพื่อกำจัดวัชพืชที่มีพิษ