วันจันทร์, ธันวาคม 23, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สันติ ตั้งรพีพากร 陈俊泰จีนมุ่งมั่น “ 3 ชั่วอายุคน ” “ เอาชนะธรรมชาติ “ “ล้อมคอกทะเลทราย” ทำพื้นที่เกษตร

Related Posts

จีนมุ่งมั่น “ 3 ชั่วอายุคน ” “ เอาชนะธรรมชาติ “ “ล้อมคอกทะเลทราย” ทำพื้นที่เกษตร

“….ปัจจุบันนี้จีนสามารถทำชิปส์ใช้เองได้โดยไม่ต้องง้อเทคโนโลยีอเมริกัน หนำซ้ำยังได้ส่งออกอย่างเป็นกอบเป็นกำด้วย สงครามชิปส์ที่อเมริกาก่อขึ้น ลงเอยด้วยชัยชนะของจีน ไม่เพียงแต่เข้มแข็งขึ้นมาได้ แต่ยังได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดโลก อีกงานใหญ่ของจีนคือการแก้ปัญหาทะเลทรายทากลามากันกินพื้นที่รวม 337000 ตารางกิโลเมตร แห่งมณฑลซินเจียงหรือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ จากความพยายามมานานกว่า 40 ปีของนักสู้จีนได้ทุ่มเทชีวิตติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ชั่วอายุคนเพื่อภารกิจยิ่งใหญ่นี้ พวกเขาสามารถเชื่อมแนวกั้นรอบทะเลทรายติดกันตลอดระยะทาง3,046 กิโลเมตรได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งใช้วิชาการไฮเทคเช่นการสร้างฟาร์มโซล่าร์เซลล์ผสมผสานไปกับการพัฒนาเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ การพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่แอ่งน้ำ หรือกระทั่งเลี้ยงปูทะเลเนื้อดีและหอยนางรมที่ให้ไข่มุกน้ำงามในแหล่งน้ำเค็มในพื้นที่แถบสีเขียวล้อมรอบทะเลทราย ที่สำคัญคือ ปัจจุบันนี้ได้มีการนำหุ่นยนต์ปลูกต้นไม้มาใช้กันแล้ว ผลงานความสำเร็จสร้างความมั่นใจในชัยชนะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้กลายเป็นตัว”เปลี่ยนเกมส์” ครั้งใหญ่ในกิจกรรมพลิกโฉมทะเลทรายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ….”

ล้อมคอกทะเลทราย 锁边沙漠

เรื่องใหญ่ที่คนจีนทั้งในและต่างประเทศทั่วโลกพากันยินดีปรีดาถ้วนหน้าระยะนี้เห็นจะไม่มีอะไรเกินกว่าการที่เทศกาลตรุษจีนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเรียบร้อยแล้วพร้อมกันกับต้มยำกุ้งอาหารอันเลิศรสที่คนทั้งโลกยกนิ้วให้ของไทยเรา

อีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความลำพองในจิตใจชาวจีนระคนกับความรู้สึกแปลกใหม่ในการที่จีนโดยสมาคมวิชาชีพต่างๆที่ต้องใช้ชิปส์ชนิดต่างๆมากมาย ทั้งทางด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะและการสื่อสารคมนาคมล้ำยุคพากันออกประกาศให้วงการเหล่านั้นทราบว่า”ชิปส์ของอเมริกาไม่ปลอดภัย” จะต้องระมัดระวังในการซื้อชิปส์ของสหรัฐฯ อันเนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ทางการสหรัฐฯได้ทำการแบนบริษัทจีนพร่ำเพรื่อจนน่าสงสัยว่าซับพลายเชนจ์ของบริษัทอเริกันจะไม่สามารถควบคุมมาตรฐานได้ ทางที่ดีคือหันมาซื้อชิปส์ที่ผลิตโดยบริษัทจีนเอง พร้อมกันนั้นก็มีการประกาศตัวเลขการส่งออกชิปส์ของจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันนี้จีนสามารถทำชิปส์ใช้เองได้โดยไม่ต้องง้อเทคโนโลยีอเมริกัน หนำซ้ำยังได้ส่งออกอย่างเป็นกอบเป็นกำด้วย

หมายความว่าสงครามชิปส์ที่อเมริกาก่อขึ้น ลงเอยด้วยชัยชนะของจีน ไม่เพียงแต่เข้มแข็งขึ้นมาได้ แต่ยังได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดโลก ตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาที่ไม่เพียงสูญเสียตลาดจีน แต่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันของจีนทั้งโลก

เฮ้อ! ปลุกยักษ์ดีๆนี่เอง!

แต่ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนจีนมากเป็นพิเศษก็คือการที่พวกเขาสามารถเชื่อมแนวกั้นรอบทะเลทรายทากลามากันได้สำเร็จ จากความพยายามมานานกว่า 40 ปีของนักสู้กับการขยายตัวของทะเลทรายชนิดเคลื่อนตัวได้ใหญ่อันดับสองของโลกแห่งนี้ รัฐบาลจีนท้องถิ่นซินเจียงไปจนถึงรัฐบาลกลาง หน่วยงานวิจัยเทคโนโลยีการบริหารจัดการทะเลทรายที่ประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ผู้เสียสละ และกองทัพนักปลูกพืชไม้บนผืนทรายหลายแสนชีวิต ได้ทุ่มเทชีวิตติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ชั่วอายุคนเพื่อภารกิจยิ่งใหญ่นี้

ทะเลทรายทากลามากันกินพื้นที่รวม 337000 ตารางกิโลเมตร หรือราว 2 ใน 3 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ทางซีกใต้ใจกลางของแอ่งกระทะทาลีมูของมณฑลซินเจียงหรือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

ตามแผนจะต้องสร้างแถบพืชไม้ยาว 3,046 กิโลเมตรปิดล้อมจึงจะสามารถยับยั้งการขยายตัวของมันได้

เรียกได้ว่า เกือบครึ่งศตวรรษเลยทีเดียวที่ชาวจีนหายใจเข้าออกเป็นเรื่องทะเลทราย เพราะการขยายตัวของทะเลทรายได้คุกคามวิถีดำเนินชีวิตของพวกเขารอบๆทะเลทรายซึ่งแผ่ไกลออกไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งกรุงปักกิ่งก็ยังเผชิญกับพายุทรายเป็นพักๆ

การต่อสู้เอาชนะการคุกคามของทะเลทราย โดยภาพรวมแล้วจีนดำเนินไปอย่างรอบด้านด้วยแนวคิดที่ตั้งไว้บนฐานการพัฒนาประเทศระยะยาว โดยมีการปรับน้ำหนักและทิศทางการต่อสู้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติทะเลทรายจีน ซึ่งรวมทั้งหมด8แห่งด้วยกัน

ทั้งนี้ ในระยะแรกดำเนินไปแบบตั้งรับ เพื่อยับยั้งการขยายตัวของทะเลทราย ระหว่างนั้นก็ได้สรุปบทเรียนยกระดับขึ้นมาเป็นการรุก ด้วยการใช้หลักวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือหลัก และกำหนดแนวทางการแกัไขปัญหาทะเลทรายอย่างเป็นระบบ โดยการตรากฏหมายกำกับอย่างชัดเจน ทำให้การฟื้นคืนชีวิตให้แก่ผืนทรายที่แห้งแล้งประสบความสําเร็จชัดเจนยิ่งขี้น โดยตั้งแต่ปีคศ.2002 เป็นต้นมา สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวบนผืนทรายกว้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อลุถึงปัจจุบันนี้ ก็ได้ปิดพื้นที่ทะเลทรายไปแล้วสองแห่งในเขตมองโกเลียใน รวมเกือบ 50,000 ตารางกิโลเมตร

เมื่อเวลาผ่านไปกว่าสองทศวรรษ ผลงานความสำเร็จยิ่งปรากฏชัด สร้างความมั่นใจในชัยชนะมากขึ้น เรื่อยๆ แต่ในที่สุดขบวนการปราบทะเลทรายจีนก็ได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า

คนกับทะเลทรายต้องอยู่ร่วมกัน อย่างยั่งยืน

การแก้ปัญหาทะเลทรายกลายเป็นการแสวงประโยชน์จากทะเลทราย ด้านหนึ่งใช้วิชาการไฮเทคเช่นการสร้างฟาร์มโซล่าร์เซลล์ผสมผสานไปกับการพัฒนาเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ การพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่แอ่งน้ำ หรือกระทั่งเลี้ยงปูทะเลเนื้อดีและหอยนางรมที่ให้ไข่มุกน้ำงามในแหล่งน้ำเค็มในพื้นที่แถบสีเขียวล้อมรอบทะเลทรายทากลามากัน ซึ่ง ณ วันนี้ได้เชื่อมติดกันตลอดระยะทาง3,046 กิโลเมตรเรียบร้อยแล้ว

ที่สำคัญคือ ปัจจุบันนี้ได้มีการนำหุ่นยนต์ปลูกต้นไม้มาใช้กันแล้ว ระลอกแรก 8000 คัน

หุ่นยนต์ล้ำสมัยเหล่านี้ถูกออกแบบมาทำงานแบบครบวงจร ทั้งสำรวจพื้นที่กำหนดแผนและเส้นทางตลอดจนวิธีการปรับพื้นที่ ตรวจวัดระดับความชื้น เจาะหลุม ลงต้นกล้า กลบผิวทรายฯลฯ ทุกอย่างทำเองหมดแบบครบวงจร ทั้งวันทั้งคืนไม่มีหยุดภายใต้ระบบเรียนรู้ด้วยตัวเองของปัญญาประดิษฐ์ล้ำยุคที่บรรจุอยู่ในสมองของหุ่นยนต์

นี่คือผลงานล่าสุดของมหาวิทยาลัยซินเจียงกับบริษัทเอกชนร่วมทำการวิจัยและพัฒนาขึ้นมา ซึ่งได้กลายเป็นตัว”เปลี่ยนเกมส์” ครั้งใหญ่ในกิจกรรมพลิกโฉมทะเลทรายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ

ไขคำจีน

沙漠 ซาม่อ ทะเลทราย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts