ภายหลังการพบกันของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับ นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ณ กรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับความสัมพันธ์สหรัฐ และจีน โดยการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างรัฐที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ได้มีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะประเด็นไต้หวันซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดและเสี่ยงที่สุด
แต่ยังไม่ทันที่บลิงเกนจะกลับถึงอเมริกา ในงานระดมทุนเพื่อใช้หาเสียงทางการเมืองในแคลิฟอร์เนียเมื่อวันอังคาร 20 มิ.ย. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กลับเรียกประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่า “เผด็จการ” ทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก รัฐบาลจีนได้ออกมาแถลงตอบโต้คำครหาของไบเดนว่าเป็น “การยั่วยุทางการเมืองอย่างเปิดเผย” ขณะที่ทำเนียบขาวพยายามอธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ไบเดนกล่าวถึงจีนด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน การเยือนของบลิงเคนต่างหากที่แสดงถึงความสัมพันธ์เชิงการทูตซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์อย่างแท้จริง
กระนั้นก็ตาม คำกล่าวของ ปธน.สหรัฐ ไม่ได้สร้างความขุ่นเคืองใจให้เฉพาะปักกิ่ง หากแต่ นายกรัฐมนตรี คริส ฮิปกินส์ แห่งนิวซีแลนด์ ซึ่งเตรียมตัวเดินทางเยือนจีนในช่วงปลายเดือนนี้ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับคำพูดของผู้นำสหรัฐ ที่เรียกประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่าเป็น “ผู้นำเผด็จการ” เพราะรูปแบบรัฐบาลที่จีนมีอยู่ก็ถือเป็นเรื่องภายในของคนจีน ถ้าพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงระบบบริหาร ก็เป็นเรื่องของพวกเขา
ฮิปกินส์ จะเดินทางเยือนจีนระหว่างวันที่ 25-30 มิ.ย. โดยนำคณะผู้แทนการค้าและผู้นำภาคธุรกิจรายใหญ่ๆ ของนิวซีแลนด์ เข้าพบกับเจ้าหน้าที่จีน ขณะที่ตัวผู้นำนิวซีแลนด์เองมีกำหนดหารือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง และจ้าว เล่อจี้ (Zhao Leji) ประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาประชาชนแห่งชาติจีน ความคิดเห็นของฮิปกินส์ จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า ยิ่ง โจ ไบเดน แขวะจีนมากเท่าไหร่ ก็มีแต่ “เสีย” กับ “เสีย”