วันเสาร์, กันยายน 28, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนเส้นทางสายไหม 2040 เชื่อมขนส่ง “โลก-ดวงจันทร์” ตอกย้ำความสำเร็จด้านอวกาศของจีน

Related Posts

เส้นทางสายไหม 2040 เชื่อมขนส่ง “โลก-ดวงจันทร์” ตอกย้ำความสำเร็จด้านอวกาศของจีน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนมุ่งมั่นเศรษฐกิจอวกาศเต็มตัว เพื่อทำโครงการเขตเศรษฐกิจอวกาศโลก-ดวงจันทร์ให้เป็นจริง ความคิดในการสร้างเขตเศรษฐกิจโลก-ดวงจันทร์ก่อรูปในจีนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศของจีนมองว่า ทรัพยากรบนดวงจันทร์คือแหล่งพลังงานใหม่ของมวลมนุษยชาติ โดยมีลำดับการปฏิบัติ คือ

1. ส่งยานอวกาศลงสู่ดวงจันทร์และเก็บตัวอย่างกลับมาในปี 2020

2. ศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งเขตเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ใดให้สำเร็จในปี 2030

3. สร้างระบบการขนส่งโลก-ดวงจันทร์เพื่อเป็นเส้นทางขนส่งสายใหม่สำเร็จในปี 2040

4. สร้างเขตเศรษฐกิจอวกาศโลก-ดวงจันทร์ในปี 2050 โดยคาดว่าเขตเศรษฐกิจอวกาศนี้จะสร้างรายได้ถึงราวปีละ 10 ล้านล้านดอลลาร์

โครงการสำรวจดวงจันทร์ก่อรูปในจีนตั้งแต่ปี 2002 นำมาสู่การส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-4 ลงบนดวงจันทร์ในปี 2019 พร้อมแผนตั้งฐานวิจัยถาวรบนขั้วดวงจันทร์ใต้ในปี 2036 เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตมนุษย์ในโลก แก้ปัญหาประชากรล้น สร้างความมั่นคงทางพลังงานและน้ำจืด โครงการเขตเศรษฐกิจอวกาศโลก-ดวงจันทร์ เปรียบเสมือนการต่อยอดโครงการเส้นทางสายไหมบนโลก ขยายไปสู่อวกาศและดวงจันทร์

ในปี 2019 จีนประกาศความสำเร็จหลังยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ-4” ลงจอดบนพื้นผิว “ด้านมืด” หรือฝั่งที่หันไปทิศตรงข้ามกับโลกได้ เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2019 เวลา 10.26 น. ตามเวลาในกรุงปักกิ่ง หรือ 9.26 น. ตามเวลาไทย

“ด้านมืด” เป็นด้านที่มองไม่เห็นเมื่อมองจากโลก เปลือกของดวงจันทร์ด้านมืด มีความหนาและมีหลุมแอ่งมากกว่าด้านสว่าง โดยยานสำรวจได้ขนอุปกรณ์เพื่อการศึกษาทางธรณีวิทยาในพื้นที่ที่ไม่เคยถูกสำรวจมาก่อน และเตรียมทำการทดลองในเชิงชีววิทยาอีกด้วย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ดวงจันทร์ด้านไกลนี้เป็นที่ที่เหมาะในทำการทดลองด้านดาราศาสตร์วิทยุ หรือการตรวจจับคลื่นวิทยุจากอวกาศ เนื่องจากเป็นด้านที่ไม่มีคลื่นวิทยุรบกวนจากโลก

แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การนาซา ก็ยังยอมรับว่าการลงจอดบนด้านมืดของดวงจันทร์หรือด้านไกลดังล่าว ถือเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติและเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง หลังจาก สหภาพโซเวียตและสหรัฐ เคยสำรวจด้านใกล้ หรือ “ด้านสว่าง” มาก่อนหน้านี้

ต่อมาจีนได้ส่งยานอวกาศฉางเอ๋อ-5 สู่ห้วงอวกาศในปี 2020 และเก็บตัวอย่างดินจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมายังโลก 1,731 กรัม ถือเป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งล่าสุดของจีน

ล่าสุดเมื่อวันอังคาร (13 มิ.ย.66) บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งชาติจีน (CASC) ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในปี 2024 ฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) ยานสำรวจดวงจันทร์ลำต่อไปของจีน จะขนส่งอุปกรณ์บรรทุกจากหน่วยงานอวกาศของยุโรปและฝรั่งเศส อุปกรณ์บรรทุกดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 2 ชิ้น สำหรับการวิจัยพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศนี้ เป็นผลมาจากบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ ที่องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ลงนามร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป และองค์การศึกษาวิจัยอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส

โดยอุปกรณ์จากยุโรปเป็นเครื่องวิเคราะห์ไอออนลบ (negative ion) ที่สามารถใช้ทำการวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ ส่วนเครื่องมือจากฝรั่งเศสเป็นเครื่องตรวจวัดก๊าซเรดอนและผลิตภัณฑ์จากการสลายตัวบนดวงจันทร์ เพื่อดำเนินภารกิจส่งตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมายังโลกให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากสำเร็จจะทำให้มนุษย์มีตัวอย่างดวงจันทร์จากด้านไกลเป็นครั้งแรก

จีนยังเตรียมเผยแพร่ ‘แผนที่ดวงจันทร์’ ทางธรณีวิทยาละเอียดสุดในโลก โดยคณะนักวิจัยของจีนเปิดเผยแผนการเผยแพร่แผนที่ทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์เต็มดวงฉบับออนไลน์ ซึ่งจะมีความละเอียดสูงสุดในโลกภายในปีนี้ หลังจากสร้างแผนที่ทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ มาตราส่วน 1:2,500,000 เสร็จสิ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ซึ่งแผนที่ดวงจันทร์ฉบับใหม่จะมอบข้อมูลอันมีนัยสำคัญต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ การวางแผนสำรวจ การคัดเลือกพื้นที่ลงจอดในอนาคต

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts