ในขณะที่รัฐบาลกำลังทุ่มสรรพกำลังผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ให้เป็นรูปธรรม ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร เกิดขึ้นจริง จะช่วงชิงประตูสู่เอเชียจากช่องแคบมะละกาได้หรือไม่ ?
ช่องแคบมะละกาตั้งอยู่ระหว่างประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์กับประเทศอินโดนีเซีย (เกาะสุมาตรา) เป็นเส้นทางการเดินเรือที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก
ท่าเรือสิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการรองรับเรือที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกา โดยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมานานหลายปี ไม่ว่าจะพิจารณาจากน้ำหนักสินค้าทุกประเภท หรือจากปริมาณคอนเทนเนอร์ก็ตาม
ปัจจัยหลักที่จูงใจให้เรือมาใช้บริการที่ท่าเรือสิงคโปร์จำนวนมากก็คือ มีทำเลที่ดีทำให้เกิดเป็นศูนย์รวมของเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกกว่า 200 สาย ให้บริการเชื่อมโยงท่าเรือกว่า 600 แห่งทั่วโลก
ปัจจัยอื่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของท่าเรือสิงคโปร์ก็คือมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร มีคุณภาพการให้บริการที่ดี และมีการบริหารงานที่โปร่งใส
คาดกันว่าถ้ามีแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะช่วยร่นระยะทางและระยะเวลาการเดินเรือระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของไทยได้เมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา หลายคนเห็นด้วยว่าระยะทางนั้นสั้นกว่า แต่ไม่แน่ใจว่าระยะเวลาจะสั้นกว่าหรือไม่
ไม่แน่ใจก็เพราะว่าจะต้องมีการขนถ่ายสินค้าหรือน้ำมันจากเรือสู่รถไฟ รถบรรทุก หรือท่อส่งน้ำมันที่ฝั่งทะเลด้านหนึ่ง แล้วขนสินค้าหรือน้ำมันด้วยรถไฟ รถบรรทุก หรือท่อส่งน้ำมันไปยังอีกฝั่งหนึ่ง จากนั้นก็ขนสินค้าหรือน้ำมันขึ้นเรือเพื่อขนไปส่งยังจุดหมายปลายทางต่อไป
จึงน่าห่วงว่าจะประหยัดเวลาได้จริงหรือ ?
ลองคิดดูว่าถ้ามีเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 100,000 ตัน จะใช้เวลานานเพียงใดที่จะสูบน้ำมันจากเรือลงสู่ท่อ หรือถ้ามีเรือบรรทุกสินค้าขนาด 50,000 ตัน จะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะขนสินค้าจากเรือสู่รถ และจะต้องใช้รถบรรทุกจำนวนมากขนาดไหน
ข้อเป็นห่วงนี้ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงให้กระจ่าง
เวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะจูงใจให้เรือมาใช้บริการ เพราะเวลาหมายถึงค่าใช้จ่าย ไม่ว่าเวลาที่แล่นเรืออยู่ในทะเลหรือเวลาที่จอดเทียบท่า ล้วนต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งนั้น
ถ้าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร สามารถประหยัดเวลาได้ ก็จะสามารถจูงใจให้เรือมาใช้บริการแทนการแล่นผ่านช่องแคบมะละกา แต่ถ้าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ไม่ทำให้ประหยัดเวลาได้ ก็ยากที่จะจูงใจให้เรือมาใช้บริการ
คำตอบต่อข้อกังวลนี้ ติดตามดูได้จากผลตอบรับของเอกชนว่าสนใจจะมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือไม่ ? ถ้าลงทุนแล้วได้กำไร เขาก็จะลงทุน นั่นหมายความว่าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะช่วยร่นระยะเวลาได้ ทำให้มีเรือมาใช้บริการในปริมาณที่มากพอที่จะทำกำไรได้
แต่ถ้าลงทุนแล้วขาดทุน เขาก็จะไม่ลงทุน นั่นหมายความว่าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ไม่สามารถจูงใจให้เรือมาใช้บริการแทนช่องแคบมะละกาได้
ด้วยเหตุนี้ ปริมาณเรือที่จะมาใช้บริการจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจที่จะลงทุนในโครงการนี้ของเอกชน ซึ่งเขาจะต้องคาดการณ์ว่าจะมีเรือมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยแค่ไหนนั้น โดยคำนึงถึงประเภทของสินค้าที่เรือจะขนมา และจุดต้นทางและปลายทางของสินค้า เช่น
(1) เรือบรรทุกน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางสู่ประเทศญี่ปุ่น จะเปลี่ยนเส้นทางจากช่องแคบมะละกามาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยเพียงใด
(2) เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์จากยุโรป (ท่าเรือร็อตเตอร์ดัม) สู่ญี่ปุ่น จะเปลี่ยนเส้นทางจากช่องแคบมะละกา มาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยเพียงใด
(3) เรือบรรทุกแร่เหล็กจากอินเดียสู่ตะวันออกไกลจะเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือไม่
(4) เรือบรรทุกถ่านหินจากแอฟริกาสู่ตะวันออกไกลจะเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือไม่
วันนี้ประตูสู่เอเชียทางน้ำยังอยู่ที่ช่องแคบมะละกา แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร เป็นรูปธรรมขึ้นมาคงต้องรอดูกันว่าประตูสู่เอเชียจะเปลี่ยนไปหรือไม่
ถึงวันนั้นคนไทยจะได้ไชโย !