เมืองไป่เซ่อในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน โดยหลังจากที่ได้พัฒนามาเป็นเวลาถึง 40 ปี มะม่วงก็กลายเป็น “กุญแจทอง” ไขประตูสู่ความเจริญรุ่งเรืองของชาวไป่เซ่อ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เมืองไป่เซ่อได้อาศัยข้อได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ปลูกมะม่วง จนสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้เมืองไป่เซ่อ (Baise Fruit Industry Development Center) เปิดเผยว่า ในปี 2566 เมืองไป่เซ่อมีพื้นที่ปลูกมะม่วงมากถึง 1.37 ล้านหมู่ (ประมาณ 913.33 ตารางกิโลเมตร) คิดเป็นประมาณ 24.19% ของพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งหมดในจีน ให้ผลผลิตรวมกัน 1.25 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 27.8% ของการเก็บเกี่ยวมะม่วงทั้งหมดของจีน โดยมีมูลค่าผลผลิตรวม 1.92 หมื่นล้านหยวน การที่เมืองไป่เซ่อมีพื้นที่ปลูกและผลผลิตทะลุหลัก “ล้าน” ทั้งคู่นั้น ทำให้ไป๋เซ่อกลายเป็นฐานการผลิตมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ของจีน
การปลูกมะม่วงเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใช้แรงกาย โดยมีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ระดับชาติ เช่น ในการบรรเทาความยากจนและฟื้นฟูชนบท พื้นที่ปลูกมะม่วงหลักอย่างเมืองไป่เซ่อนั้น อาศัยการทำงานร่วมกันขององค์กรชั้นนำในระดับเขตปกครองรวม 9 แห่ง และได้จัดตั้งพื้นที่สาธิตการปลูกมะม่วงตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นไปรวมกัน 27 แห่ง ซึ่งนำการเที่ยวชมสถานที่และการพักผ่อนมารวมเข้าด้วยกัน โดยพื้นที่สาธิตในระดับเขตปกครองตนเอง เมือง และอำเภอ มีบทบาทอย่างจริงจังในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบ ช่วยให้ประชาชนเกือบ 200,000 คนหลุดพ้นจากความยากจน และในปี 2559 การประชุมว่าด้วยการบรรเทาความยากจนในภาคอุตสาหกรรมแห่งชาติ ได้ยกมะม่วงกว่างซีมาเป็น 1 ใน 10 แบบอย่างในการบรรเทาความยากจนเพื่อส่งเสริมไปทั่วประเทศ ต่อมาในปี 2563 ทางสำนักงานบรรเทาความยากจนประจำคณะมุขมนตรีจีนได้เลือก “Guangxi Tiandong: Technology Leads Green Drive – Mango Turns into Gold” ให้เป็น 1 ใน 100 กรณีตัวอย่างในการบรรเทาความยากจนในภาคอุตสาหกรรมด้วย
เมืองไป่เซ่อใช้ “เทคโนโลยี” ได้อย่างอยู่หมัด โดยความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในการปลูก ผลผลิต และมูลค่าผลผลิตได้กระตุ้นให้เห็นพลังที่แท้จริงของระบบการวิจัยและพัฒนาส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมมะม่วงเท่านั้น แต่ยังดำเนินโครงการเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในอุตสาหกรรม และสร้างแพลตฟอร์มคลาวด์อัจฉริยะเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมดิจิทัลด้วย นอกจากนี้ เมืองไป่เซ่อยังยกระดับการเพิ่มทรัพยากรเชื้อพันธุ์พืช โดยเน้นไปที่การวิจัยเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์มะม่วงและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในด้านเชื้อพันธุ์พืช รวมถึงเทคโนโลยีใหม่สำหรับการปลูกในโรงเรือน ทั้งยังได้มีการฝึกอบรมเกษตรกรมากถึง 107,000 ราย
เมืองไป่เซ่อใช้ “อุตสาหกรรม” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2566 เมืองไป่เซ่อได้เปิดตัวบริษัท 14 แห่งเพื่อแปรรูปมะม่วงอย่างล้ำลึก ส่งผลให้มีศักยภาพในการแปรรูปมะม่วงในเชิงลึกสูงถึง 300,000 ตัน โดยมีมูลค่าผลผลิตกว่า 1.5 พันล้านหยวน ทำให้มูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างพื้นที่การผลิตมะม่วงแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วย และในปี 2566 ที่การประชุมว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมมะม่วงจีน ณ เมืองไป่เซ่อ มะม่วงไป่เซ่อมีมูลค่าแบรนด์สูงถึง 1.0556 หมื่นล้านหยวน อยู่ในอันดับ 32 ในการจัดอันดับแบรนด์ภูมิภาคระดับประเทศ (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) 100 อันดับแรก
เมืองไป่เซ่อใช้ “บริการ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยได้เข้ามาวางระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิและสร้างฐานคัดแยก พร้อมดึงบริษัทโลจิสติกส์ เช่น เอสเอฟ เอ็กซ์เพรส (SF Express) ซานเค่อ (Sanke) และซีไอเอ็มซี (CIMC) มาสร้างระบบโลจิสติกส์คลังสินค้าขนาดใหญ่ โดยเพิ่มความจุคลังสินค้าอุณหภูมิห้องอีก 152,000 ตัน และความจุคลังสินค้าอุณหภูมิต่ำอีก 58,000 ตัน เปิดโอกาสให้ควบคุมความเสี่ยงในอุตสาหกรรมมะม่วงได้ดีกว่าเดิม
ทั้งนี้ เมืองไป่เซ่อได้สร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมะม่วงอันทรงพลัง ครอบคลุมทั้งการผลิต แปรรูป หมุนเวียน วิจัย และบริการ จนผลักดัน “มะม่วงลูกเล็ก ๆ” ให้กลายเป็น “อุตสาหกรรมขนาดใหญ่” ได้เป็นผลสำเร็จ
ที่มา: ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้เมืองไป่เซ่อ