“…กระแสต้านจีนเช่นนี้ ยังผลให้การพูดการกระทำของพวกเขาสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง เสียงของพวกเขาจึงเหวี่ยงตัวไปมาระหว่างทฤษฎี “จีนพัง” กับ “จีนคุกคาม” มาโดยตลอด สวนทางกับการขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์ที่พาจีนก้าวไปข้างหน้าเสมอและอย่างมั่นคง ลองปรับมุมมองใหม่ เราจะเห็นข้อจำกัดของแนวคิดแก้ไขปัญหาของตะวันตก ที่ยังยึดติดอยู่กับการแก้อาการมากกว่าแก้ที่สาเหตุ นั่นเป็นเพราะจีนมีแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถแก้ปัญหาที่สาเหตุได้เสมอ จึงไม่เคยมีวิกฤตใหญ่ๆเกิดขึ้น ส่วนประเทศตะวันตกก็สาละวนอยู่กับการแกัไขปัญหาเป็นจุดๆ ไป แก้ไม่ดีก็พาลบานปลายกลายเป็นวิกฤตเรื้อรัง ดังที่ญี่ปุ่นประสบอยู่ทุกวันนี้…”
กึ๋นจีน 中国底气
มีปรากฏการณ์ทั่วไปอย่างหนึ่ง เมื่อใดที่นักวิเคราะห์ฟันธงว่าจีนกำลังเผชิญวิกฤต และจะต้องย่ำแย่เพราะวิกฤตนั้น แต่ผลตามมามักจะสวนทางกับคำวินิจฉัยเหล่านั้นเสมอ
ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ มิได้เพิ่งมี แต่มีมานานนับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศจีนอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 โดยกลุ่มประเทศตะวันตกตั้งป้อมปิดล้อมจีนทุกมิติ เปิดฉากโจมตีด้วยการปล่อยข่าว สร้างภาพความชั่วร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประสานกับการรุกโจมตีทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร สร้างแรงกดดันให้ฝ่ายจีนมาโดยตลอด ควบคู่ไปด้วยกันก็คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านลบของจีนผ่านหลักสูตรตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั้งระบบ อันเป็นที่มาของนักวิชาการต้านจีน และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดจนนักการเมืองในระบบของที่มีจุดยืนต้านจีนอย่างแข็งขัน
ยิ่งกว่านั้น วงการสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อหลักที่ทรงอิทธิพลโน้มน้าวทัศนคติผู้คนทั่วไป ต่างได้ทำการตวัดปลายปากกาทิ่มแทงจีนอย่างเมามันต่อเนื่องแม้กระทั่งจนป่านนี้
กระแสต้านจีนเช่นนี้ ยังผลให้การพูดการกระทำของพวกเขาสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง เสียงของพวกเขาจึงเหวี่ยงตัวไปมาระหว่างทฤษฎี “จีนพัง”กับ”จีนคุกคาม”มาโดยตลอด
สวนทางกับการขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์ที่พาจีนก้าวไปข้างหน้าเสมอและอย่างมั่นคง
กรณีวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนประสบปัญหาก็ถูกขยายเป็นวิกฤตระดับชาติ ถึงขั้นจะพาจีนพัง แต่พอจีนปรับยุทธศาสตร์การเงินใหม่ ก็สามารถปรับน้ำหนักกระแสเงินจนเข้าสู่ภาวะสมดุล ปัญหาที่บอกว่าใหญ่ก็กลายเป็นปัญหาองค์ประกอบที่สามารถแก้ไขได้ในกรอบการบริหารปกติ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการฟันธงว่า ถึงจุดที่เศรษฐกิจจีนจะต้องชะลอตัวและย่ำอยู่กับที่ เฉกเช่นที่ได้เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา แต่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีน (หลินอี้ฟู) ก็ชี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นย่ำอยู่กับที่ ขนาดจีดีพีไม่โตเลยก็คืออิทธิพลสหรัฐฯที่ครอบงำอยู่ ส่วนจีนนั้นมีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมตามแผนได้สำเร็จตามเป้าเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุ่มเทสรรพกำลังเข้าสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการผลิต จากเน้นปริมาณสู่การเน้นคุณภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนขึ้นสู่ระดับใหม่ ซึ่งนำมาสู่การนวัตกรรมอย่างทั่วด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย ส่งเสริมให้การผลิตยุคใหม่เข้าแทนที่การผลิตแบบเก่าๆได้อย่างรวดเร็วทั่วด้าน ผลโดยรวมก็คือพลังการผลิตและประสิทธิภาพการผลิตของจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในอัตราเร็วสูงกว่าอัตราเฉลี่ยโลก และด้วยความสม่ำเสมอ มั่นคงยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก
ลองปรับมุมมองใหม่ เราจะเห็นข้อจำกัดของแนวคิดแก้ไขปัญหาของตะวันตก ที่ยังยึดติดอยู่กับการแก้อาการมากกว่าแก้ที่สาเหตุ ญี่ปุ่นเป็นง่อย พวกเขาสรุปว่าเป็นเพราะหนี้ท่วม ฟองสบู่แตก ก็มุ่งแก้ปัญหาด้วยการเงิน ผลคือเศรษฐกิจญี่ปุ่นนิ่งสนิท แสดงว่าแก้ไม่ถูกจุด แต่จีนแม้จะมีปัญหาหนี้ท่วมในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่เขาไม่ได้แก้เพียงส่วนนี้ ตรงข้ามเขากลับมุ่งยกระดับขนาดเศรษฐกิจจีนไปสู่มิติใหม่ ทำให้ปัญหาหนี้ท่วมดังกล่าวกลายเป็นส่วนย่อยของขนาดเศรษฐกิจที่โตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ปัญหาวิกฤตที่น่าสะพึงกลัวในโลกทุนนิยม เลยกลายเป็นปัญหาทั่วไปในประเทศจีน
นั่นเป็นเพราะจีนมีแนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถแก้ปัญหาที่สาเหตุได้เสมอ จึงไม่เคยมีวิกฤตใหญ่ๆเกิดขึ้น ส่วนประเทศตะวันตกก็สาละวนอยู่กับการแกัไขปัญหาเป็นจุดๆไป แก้ไม่ดีก็พาลบานปลายกลายเป็นวิกฤตเรื้อรัง ดังที่ญี่ปุ่นประสบอยู่ทุกวันนี้