วันพฤหัสบดี, กันยายน 26, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีน“กวางตุ้ง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีนต่อเนื่อง 35 ปี

Related Posts

“กวางตุ้ง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีนต่อเนื่อง 35 ปี

มณฑลกวางตุ้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน และครองตำแหน่ง ‘มณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีน’ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 35 ปี ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เมื่อปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 13.57 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.8 ของมูลค่า GDP ทั้งหมดของจีน นับเป็นมณฑลแรกของจีนที่มี GDP ทะลุ 13 ล้านล้านหยวน สูงกว่า GDP ของอังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อิตาลี และเกาหลีใต้

@suebjarkkhao

“กวางตุ้ง” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีนต่อเนื่อง 35 ปี มณฑลกวางตุ้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน และครองตำแหน่ง ‘มณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีน’ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 35 ปี ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เมื่อปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 13.57 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.8 ของมูลค่า GDP ทั้งหมดของจีน นับเป็นมณฑลแรกของจีนที่มี GDP ทะลุ 13 ล้านล้านหยวน สูงกว่า GDP ของอังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อิตาลี และเกาหลีใต้

♬ เสียงต้นฉบับ – Suebjarkkhao – Suebjarkkhao

มณฑลกวางตุ้งเรียกได้ว่าเป็นประตูการค้าของจีนที่เปิดไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นหนึ่งในประตูสำคัญของนักลงทุนต่างชาติในการบุกตลาดจีน เพราะมีความได้เปรียบทั้งด้านทำเลที่ตั้ง และพลวัตรด้านการค้าโดยเฉพาะเมืองเอกอย่าง ‘นครกว่างโจว’ ที่มีการจัดงาน ‘The China Import and Export Fair’ หรือที่รู้จักกัน ในชื่อ ‘Canton Fair’ เป็นประจำทุกปี ที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเข้ามาหาช่องทางทำการค้าและการลงทุนในตลาดจีนมาอย่างยาวนาน  

ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีประชากรกว่า 127 ล้านคน มากที่สุดในจีน และมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน และเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญของจีน ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี ถึงแม้มณฑลกวางตุ้งต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกของการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนในรอบ 3 ปีหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มณฑลกวางตุ้งยังคงสามารถรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้ โดยมี GDP ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ มากที่สุดของจีนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 35 ปี วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว จะเผยปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ที่ทำให้มณฑลกวางตุ้งฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและยังสามารถรักษาสถานะ ‘มณฑลแนวหน้าทางเศรษฐกิจของจีน’ เอาไว้ได้

1) อุตสาหกรรมการผลิตที่แข็งแกร่ง มณฑลกวางตุ้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีน จนได้รับฉายาว่า ‘โรงงานของโลก’ ในปี 2566 การลงทุนด้านอุตสาหกรรมของมณฑลกวางตุ้งขยายตัวกว่าร้อยละ 22.2 โดยสามารถรักษาอัตราการเติบโตของการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเป็นเลขสองหลักเป็นเวลาติดต่อกัน 36 เดือน นอกจากนี้ การลงทุนด้านการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง โดยได้ออกนโยบายสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับการผลิตไปสู่การเป็นดิจิทัล โดยการปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาและบริหารจัดการการผลิต

2) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ถือเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง นายหวัง เหย่ฉิน (Wang Yeqin) ผู้อำนวยการกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมณฑลกวางตุ้ง ได้กล่าวว่า “ความสามารถด้านนวัตกรรมที่แข็งแกร่งขององค์กรต่าง ๆ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่โดดเด่นของอุตสาหกรรมในมณฑลกวางตุ้ง” ปัจจุบันมณฑลกวางตุ้งมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากกว่า 1.3 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 7 ของบุคลากรด้าน R&D ทั้งหมดของจีน

ทั้งนี้ ในรายงาน ‘การประเมินศักยภาพนวัตกรรมระดับภูมิภาคของจีนประจำปี 2566’ ระบุว่ามณฑลกวางตุ้งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของจีนมาเป็นเวลาติดต่อกัน 7 ปี ทั้งนี้ เมืองเซินเจิ้น ฮ่องกง และนครกว่างโจว ล้วนเป็นเมืองชั้นนำด้านเทคโนโลยีของจีน องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดด้านนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index) ระบุ คลัสเตอร์เมือง เซินเจิ้น – ฮ่องกง – กว่างโจวอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก (รองจากคลัสเตอร์เมือง โตเกียว – โยโกฮามา) ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากกว่า 75,000 แห่ง มีการพัฒนาโดรน สร้างสถานีฐาน 5G  มากกว่า 320,000 แห่ง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของมณฑลกวางตุ้งให้รุดหน้า นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของมณฑลกวางตุ้งยังเติบโตต่อเนื่อง เมื่อปี 2566 ผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ได้มากถึง 2.53 ล้านคัน มากเป็นอันดับที่ 1 ของจีน เรียกได้ว่ามณฑลกวางตุ้งเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีน มีบริษัทที่สำคัญหลายราย เช่น บริษัท BYD บริษัท GAC และบริษัท XPeng เป็นต้น

3) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี มณฑลกวางตุ้งมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมในระดับนานาชาติ เมื่อปี 2566 สหพันธ์อุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งชาติจีน (ACFIC) เผยผลการประเมิน ‘สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจของบริษัทเอกชน 10,000 แห่ง’ โดยมณฑลกวางตุ้งได้รับรางวัลมณฑลที่มีชื่อเสียงด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน ปัจจุบันมีจำนวนองค์กรธุรกิจ (business entity) กว่า 18 ล้านแห่ง ในจำนวนดังกล่าวเป็นวิสาหกิจ 7.78 ล้านแห่ง คิดเป็น 1 ใน 7 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดของจีน

มณฑลกวางตุ้งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune Global 500 จำนวน 19 บริษัท ได้แก่ บริษัท Ping An Insurance (อันดับที่ 33) บริษัท China Southern Power Grid (อันดับที่ 83) บริษัท Huawei  (อันดับที่ 111) บริษัท Amer (อันดับที่ 124) บริษัท Tencent (อันดับที่ 147) บริษัท GAC (อันดับที่ 165) บริษัท Vanke (อันดับที่ 173) บริษัท China Merchants Bank (อันดับที่ 179) บริษัท Country Garden (อันดับที่ 206) บริษัท BYD (อันดับที่ 212) บริษัท Midea (อันดับที่ 278) บริษัท China Electronics (อันดับที่ 368) บริษัท SF Express (อันดับที่ 377) บริษัท Guangzhou Municipal Construction (อันดับที่ 380) บริษัท Shenzhen Investment (อันดับที่ 391) บริษัท Guangzhou Industrial Investment (อันดับที่ 414) บริษัท Guangzhou Pharmaceutical (อันดับที่ 426) บริษัท Guangdong Guangxin (อันดับที่ 427) และบริษัท Luxshare (อันดับที่ 479)

4) จำนวนประชากร มณฑลกวางตุ้งมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของจีน นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังสามารถรักษาอัตราการเกิดของประชากรให้สูงเป็นอันดับที่ 1 ของจีนเป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี ซึ่งทำให้มณฑลกวางตุ้งมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ อนึ่ง เมื่อปี 2566 มณฑลกวางตุ้งมียอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 4.75 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปี 2565

จากข้อมูลข้างต้นสามารถเห็นได้ว่า มณฑลกวางตุ้งมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ในขณะเดียวกัน ความสำเร็จของมณฑลกวางตุ้งนั้นก็เป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่าการสนับสนุนจากภาครัฐมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การวางแผน ออกนโยบาย รวมไปถึงกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม และการร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชนล้วนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในมณฑลฯ ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วยดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนส่งผลให้มณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่เพียบพร้อมด้วยศักยภาพ และรักษาขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีนมายาวนานกว่าสามทศวรรษ

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts